กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--กทม.
ตามงานด้านอนามัย ตรวจสอบความคืบหน้าโครงการกรุงเทพฯ เมืองอาหารปลอดภัย โครงการศูนย์รักสุขภาพ และงานด้านการป้องกันปัญหาสุขภาพเชิงรุก ทั้งการบำบัดผู้ติดยาเสพติดและโครงการกรุงเทพฯ เมืองปลอดบุหรี่
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการติดตามงานในมิติกรุงเทพเมืองสุขภาพดีผู้คนมีความสุข ว่า ในการประชุมผู้บริหารในครั้งนี้ได้ติดตามงานของสำนักอนามัยในหลายเรื่อง ซึ่งได้เร่งรัดงานที่กำลังดำเนินการอยู่ให้เสร็จสิ้นตามแผน พร้อมขยายงานนำร่องให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในการให้บริการประชาชน
โครงการกรุงเทพฯ เมืองอาหารปลอดภัย จะมีการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอาหารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2550 มีการตรวจเฝ้าระวังในพื้นที่ 50 เขต จำนวน 7,781 ตัวอย่าง พบว่ามีการปนเปื้อนระดับสูง (ตรวจพบปนเปื้อนมากกว่าร้อยละ 10) จำนวน 13 เขต ปนเปื้อนระดับกลาง (ตรวจพบปนเปื้อนระหว่างร้อยละ 5.1 ถึงร้อยละ 10) จำนวน 14 เขต และปนเปื้อนระดับต่ำ (ตรวจพบปนเปื้อนร้อยละ 5 หรือน้อยกว่า) จำนวน 23 เขต ระหว่างเดือน ต.ค. 50 - ม.ค. 51 ตรวจเฝ้าระวังจำนวน 15,491 ตัวอย่าง พบว่าปนเปื้อนระดับสูง (ตรวจพบปนเปื้อนมากกว่าร้อยละ 10) จำนวน 7 เขต ปนเปื้อนระดับกลาง (ตรวจพบปนเปื้อนระหว่างร้อยละ 5.1 ถึงร้อยละ 10) จำนวน 16 เขต และปนเปื้อนระดับต่ำ (ตรวจพบปนเปื้อนร้อยละ 5 หรือน้อยกว่า) จำนวน 27 เขต ซึ่งได้กำหนดนโยบายการบังคับใช้กฎหมายด้านอาหารปลอดภัยในพื้นที่เขตนำร่อง 5 เขต คือ เขตดุสิต บางซื่อ พญาไท ราษฎร์บูรณะ และเขตห้วยขวาง โดยเข้าตรวจเข้มในพื้นที่ที่มีประชาชนบริโภคอาหารจำนวนมาก ทั้งนี้ได้มอบให้สำนักอนามัยขยายผลจากเขตนำร่องให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร อีกทั้งการเพิ่มหน่วยเคลื่อนที่ออกตรวจคุณภาพอาหารด้วย
สำหรับโครงการศูนย์รักษ์สุขภาพ กรุงเทพมหานคร ที่มีการเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 51 ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพระราม 3 นั้น ขณะนี้ศูนย์รักษ์สุขภาพดังกล่าวมีสถิติผู้มารับบริการ ตั้งวันที่ 23 ก.พ. - 5 มี.ค. 51 ในด้านห้องตรวจสุขภาพ 275 คน ด้านศูนย์ศึกษาชีวิต 121 คน ด้านห้องให้คำปรึกษา 136 คน ด้านห้องนมแม่ 2 คน รวม 462 คน เฉลี่ยแล้วมีผู้มารับบริการวันละ 40 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับจากวันที่เปิดให้บริการ ทั้งนี้มีการตั้งเป้าหมายขยายการให้บริการในอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ อีกประมาณ 20 แห่งในเร็วๆ นี้ และการปรับปรุงด้านกายภาพศูนย์บริการสาธารณสุขนั้นได้มีการปรับปรุงสถานที่ การฝึกอบรมบุคลากร การให้บริการประชาชนเชิงรุกให้มีความแตกต่างของศูนย์บริการเดิม กำหนดแล้วเสร็จ 30 ศูนย์ในปี 2551 และครบ 68 ศูนย์ในปีต่อไป
ส่วนด้านการป้องกันปัญหาสุขภาพเชิงรุก มีโครงการดำเนินการอยู่ คือ การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ให้บริการผู้ติดยาเสพติด แบบผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ทั้งระบบสมัครใจ และระบบบังคับบำบัด โดยมีสถานที่ให้การบำบัดรักษา ดังนี้ 1. ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง (คลินิกยาเสพติด 18 แห่ง) 2. ศูนย์ซับน้ำตาโรงพยาบาลตากสิน และวิทยาลัยแพทยศาสตร์และวชิรพยาบาล รวม 2 แห่ง และ 3. สถานฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดบ้านพิชิตใจ ผลการดำเนินงานบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ปีที่ผ่านมามีผู้รับบริการในระบบสมัครใจ 1,119 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยใน 48 คน ผู้ป่วยนอก 1,071 คน ผู้รับบริการในระบบบังคับบำบัด เป็นผู้ป่วยนอก 4,044 คน มีการติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดเพื่อไม่ให้กลับไปเสพซ้ำสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ เมื่อปี 50 มีการติดตามดูแล และช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด 4,148 คน การเผยแพร่ความรู้ รณรงค์ด้านการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในสถานศึกษา ชุมชน สถานประกอบการ ศูนย์บริหารสาธารณสุข หลักสูตรศูนย์ศึกษาชีวิตอย่างต่อเนื่องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร
โครงการกรุงเทพฯ เมืองหลวงปลอดบุหรี่ กำหนดอาคารหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร และสถานที่สาธารณะหรือ หน่วยงานอื่นของรัฐทุกแห่งเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ เป้าหมายสถานที่สาธารณะของกทม. จำนวน 3,175 แห่ง ครอบคลุมทุกแห่งภายในเดือน ก.ย. 51 สถานที่สาธารณะของเอกชนหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ จำนวน 26,463 แห่ง กำหนดเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ครอบคลุม ทุกแห่งภายในเดือน ก.ย. 52 พร้อมกับส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสถานที่สาธารณะจัดสถานที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ด้วย