กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--กบข.
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่าแนวโน้มการลงทุนในปีนี้คาดว่ายังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ส่งผลให้ กบข.มีความจำเป็นต้องระมัดระวังการลงทุน และปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ ที่เกิดขึ้นจากเงินทุนเคลื่อนย้าย อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีนโยบายลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ถึงร้อยละ 5 - 5.5 ตามคาดการณ์ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 4.7
“ ทั้งนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์การเมืองที่มีความชัดเจน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชนฟื้นกลับ ซึ่งจากตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิตในหลายๆ อุตสาหกรรม พบว่ามีการใช้กำลังการผลิตใกล้เต็มที่แล้ว หากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ คาดว่าจะเกิดการลงทุนเพิ่ม เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่มีความกังวลในการขยายกำลังการผลิต” นายวิสิฐกล่าว
ทางด้านปัจจัยเสี่ยงการลงทุนในปีนี้ เรื่องของราคาน้ำมันยังคงเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของโลก อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าในการประชุมโอเปกในเดือนนี้ส่งผลไม่มีการเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันทรงตัวเหนือระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และจากราคาน้ำมันที่มีความผันผวนนี้เอง ทำให้ต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้หน่วยงานเศรษฐกิจหลายหน่วยงานได้ปรับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลง และเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึงร้อยละ 1.25 ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ลดลงเหลือร้อยละ 3
สำหรับพอร์ตการลงทุน กบข. ยังคงให้น้ำหนักลงทุนในตราสารหนี้ พันธบัตร ในประเทศเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ร้อยละ 12-13 นอกจากนี้เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงการลงทุน กบข. เตรียมขยายการลงทุนในต่างประเทศผ่าน ตราสารทุน ตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) และ นิติบุคคลเอกชน (Private Equity) โดยมีเพดานการลงทุนในต่างประเทศ ไม่เกินร้อยละ 25 ของพอร์ตลงทุนทั้งหมด