กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--กรมชลประทาน
แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี (2561-80 ) ของไทยมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติได้ย้ำถึงโครงการสำคัญที่จะต้องพยายามขับเคลื่อนออกมา โดยเฉพาะโครงการที่จะมีนัยสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำทั้งแล้ง-ท่วม
นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายก่อสร้าง เปิดเผยว่าตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามแผนแม่บท การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ซึ่งหลายโครงการอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนของรัฐบาล และกรมชลประทานที่กำลังดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งโครงการผันน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน การจัดหาแก้มลิงรับน้ำหลาก หรืออุโมงค์ผันน้ำ ทั้งหมดกรมชลประทานได้มีการดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี เพื่อจัดหาน้ำต้นทุนเพิ่ม ให้เป็นไปตามแผนกว่า 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ในระยะแผน 20 ปี
โดยโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ กรมชลประทานได้วางโครงการไว้หลายโครงการทั้งที่กำลังก่อสร้างและอยู่ระหว่างการศึกษา เช่นโครงการผันน้ำแม่ยวม เติมเขื่อนภูมิพล ปีละ 1,800 ล้านลบ.ม. อยู่ระหว่างการศึกษาของฝ่ายวิชาการ โครงการอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง-แม่งัด -แม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ ( 2559-64 ) อยู่ระหว่างก่อสร้าง ภาพรวมปัจจุบันมีความก้าวหน้า 42% จะเพิ่มน้ำต้นทุนในเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้ปีละประมาณ 160 ล้านลบ.ม. รองรับการใช้น้ำในอนาคตที่เพิ่มขึ้น 173 ล้านลบ.ม.ต่อปี ในอีก20ปีข้างหน้า สำหรับการขยายตัวของเขตเมือง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ในเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงบรรเทาอุทกภัยเมืองเชียงใหม่
โครงการประตูระบายน้ำ (ปตร.) ศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย อยู่ระหว่างก่อสร้าง ระหว่างนี้กรมชลฯได้เร่งสร้างประตูกั้นลำน้ำเดิมให้เสร็จก่อน เพื่อช่วยกักน้ำในแม่น้ำเลยก่อนที่จะลงแม่น้ำโขงเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งปตร.ศรีสองรัก จะแล้วเสร็จในปี 65 โครงการประกอบด้วยการก่อสร้างปตร.ปิดกั้นระหว่างลำน้ำเลยกับแม่น้ำโขง 5 ช่องประตู กว้าง 15 เมตร สูง 13.2 เมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที จะช่วยบริหารน้ำในลำน้ำให้สอดคล้องกับฤดูกาลและกักน้ำไว้ในหน้าแล้งไม่ปล่อยทิ้งแม่น้ำโขง และสำหรับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีโครงการก่อสร้างและปรับปรุงปตร.ในบริเวณปากแม่น้ำที่บรรจบแม่น้ำโขง ปัจจุบันมีการดำเนินการแล้วตั้งแต่ปากแม่น้ำเลย แม่น้ำมูล และบางจุดจะมีขุดลอกแก้มลิงธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำเพื่อกักน้ำในฤดูแล้ง
สำหรับการจัดหาพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่รองรับน้ำหลาก เช่นบางระกำโมเดล จ.พิษณุโลก กรมชลฯได้มีการวางโครงการเพื่อเป็นแก้มลิงเก็บน้ำ เช่น การเตรียมทุ่งเจ้าพระยา 22 จังหวัดภาคกลางเป็นแก้มลิงธรรมชาติเพื่อบริหารน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา การขุดลอกบึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ ร่วมถึงการทำแก้มลิงขนาดเล็กกระจายในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล เป็นต้น
นอกจากนั้นในภาคใต้มีโครงการระบายน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยในหลายจังหวัด มีการก่อสร้างปตร.ในปลายคลองของแต่ละโครงการเพื่อกักน้ำไว้ในฤดูแล้ง เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา และรอบทะเลสาบสงขลามีการจัดหาพื้นที่ทำแก้มลิงขนาดเล็กเพื่อกักเก็บน้ำจืด โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง โครงการบรรเทาอุทกภัยนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุ่มดวง จ.สุราษฏร์ธานี โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 3 และคลองระบาย D9 เพื่อตัดยอดน้ำไม่ให้ผ่านเข้าเมืองเกิน 150 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งเป็นศักยภาพของแม่น้ำในช่วงผ่านตัวเมืองเพชร ล่าสุดคืบหน้ากว่า 90 %
โครงการที่ยกตัวอย่างมานั้นกรมชลฯได้มีการเดินหน้าต่อยอดและพัฒนาให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งแต่ละโครงการที่เดินหน้าได้นั้น ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทุกกระบวนการและมุ่งหวังให้เกิด ประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนเป็นสำคัญ