กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพจากแนวโน้มเครดิตเป็นบวก และคงอันดับเครดิตสากลระยะยาว (Issuer Default Rating) ของทั้งสองบริษัท และอันดับเครดิตหนี้ที่ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ ปตท.สผ. ที่ระดับ 'BBB+’
การปรับแนวโน้มเครดิตครั้งนี้เกิดจากการปรับแนวโน้มเครดิตของประเทศไทย เป็นแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพจากแนวโน้มเครดิตเป็นบวก เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563
แนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศของ
ปตท. ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยข้างต้น เนื่องจากอันดับเครดิตภายในประเทศเป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบระหว่างประเทศกับองค์กรต่างๆในประเทศไทย
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ ในระดับสูง: อันดับเครดิตของปตท. เท่ากับสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของปตท. ซึ่งอยู่ที่ 'bbb+’ แต่ถ้าสถานะเครดิตโดยลำพังของ ปตท. ถูกปรับลดลงในอนาคต อันดับเครดิตของปตท. ก็จะถูกปรับให้เท่ากับอันดับเครดิตของประเทศไทย ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ (Government-Related Entities Rating Criteria) ของฟิทช์
ฟิทช์มองว่าสัดส่วนการถือหุ้นและการควบคุมของภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับปานกลาง โดยรัฐบาลถือหุ้นโดยตรงในปตท. ร้อยละ 51 และมีส่วนในการคัดเลือกคณะกรรมการบริษัทฯ แต่ระดับที่ภาครัฐฯ เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการกำหนดกลยุทธ์ การดำเนินงาน และการดำเนินการทางการเงินในระดับปฏิบัติการ อยู่ในระดับปานกลาง
นอกจากนี้ ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับสูง แม้ว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการสนับสนุนทางการเงินให้กับบริษัทฯ เนื่องจากปตท. มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าภาครัฐฯ น่าจะสนับสนุนทางการเงินให้กับปตท. ในกรณีที่บริษัทมีความต้องการ เนื่องจากปตท. มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และเป็นตัวจักรสำคัญในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย
ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในกรณีที่ปตท. ผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับสูง เนื่องจาก ปตท. เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติรายเดียวให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าของภาครัฐฯ และก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ซึ่งหากการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น ฟิทช์คาดว่าน่าจะมีผลกระทบต่อการจัดหาก๊าซธรรมชาติสำหรับใช้บริโภคภายในประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่าการผิดนัดชำระหนี้อาจจะมีผลกระทบต่อการกู้ยืมของภาครัฐฯ และองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ อื่นๆ อีกด้วย
อันดับเครดิต ปตท.สผ. เท่ากับอันดับเครดิต ปตท.: อันดับเครดิตของ ปตท.สผ. อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ ปตท. สะท้อนถึงความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงาน และด้านกลยุทธ์ที่อยู่ในระดับแข็งแกร่งระหว่างบริษัททั้งสอง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งสะท้อนถึงการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกันระหว่างสองบริษัท โดย ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 65 ใน ปตท.สผ. และสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จาก ปตท.สผ. คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47 ของกลุ่ม ปตท. ในปี 2562 ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินงานธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของกลุ่ม ปตท. โดย ปตท.สผ. ขายผลิตภัณฑ์มากกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดให้แก่ ปตท. และรายได้ประมาณร้อยละ 81 ของ ปตท.สผ. มาจาก ปตท. ฟิทช์พิจารณาอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท.สผ. อยู่ที่ระดับ 'bbb’
การดำเนินงานของ ปตท.สผ. ยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนบทบาทเชิงกลยุทธ์ของบริษัทแม่ต่ออุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย และช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ
ปตท. มีตัวแทนในคณะกรรมการของ ปตท.สผ. และเป็นผู้แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงบางส่วนของบริษัท นอกจากนี้ ปตท. ยังมีส่วนร่วมในการสนับสนุน ปตท.สผ. ในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่
ปตท.สผ. มีความสามารถในการรองรับอัตราส่วนหนี้สินที่เพิ่มขึ้นโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิต (Rating Headroom) ที่เพียงพอ: ฟิทช์คาดว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท.สผ. ที่ระดับ 'bbb’ สามารถรองรับสถานะการที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำได้ โดยปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติที่สูงในระดับร้อยละ 71 ของปริมาณการขายทั้งหมด น่าจะช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง เนื่องจากราคาขายก๊าซธรรมชาติ จะปรับตามราคาน้ำมันเตาในสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 และจะใช้เวลา 3-24 เดือนในการปรับราคาซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในสัญญาซื้อขาย นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการทำสัญญาขายล่วงหน้าเพื่อประกันราคาน้ำมันของการขายน้ำมันบางส่วนซึ่งจะช่วยให้รายได้ไม่ลดลงมาก
ดังนั้น ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ ปตท.สผ. จะลดลงไม่มากเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่เราคาดว่าจะลดลง นอกจากนี้ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ ปตท.สผ. ยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยจะมีอัตราส่วนหนี้สุทธิในระดับต่ำมาก ซึ่งเพียงพอที่จะรับกับสถานะการที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำได้
เรายังไม่ได้ปรับแผนการลงทุน หรือการจ่ายเงินปันผลของบริษัท แต่เชื่อว่าบริษัทฯ มีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่งในการปรับลดเมื่อต้องการ
ปตท. มี Rating Headroom ลดลง: ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการเงินของ ปตท. จะยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตโดยลำพังของที่ระดับ 'bbb+’ แม้ว่า Rating Headroom จะลดลง
ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ของปตท. จะเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่า 2.5 เท่า (ปี 2562 อยู่ที่ 1.8 เท่า) และค่อยปรับลดลงสู่ระดับ 2 เท่า ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะลดลงไม่มาก แต่ภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัวอาจจะทำให้ผลประกอบการของธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ปตท. น่าจะมีความยืดหยุ่นในการปรับแผนการลงทุนแต่ฟิทช์ยังไม่ได้มีการปรับแผนการลงทุนในการคาดการณ์ของเรา
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตของ
ปตท.
ปัจจัยบวก
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะยาวของประเทศไทยโดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท. และภาครัฐฯ ยังคงเหมือนเดิม
ปัจจัยลบ
การปรับลดอันดับเครดิตสากลของประเทศไทย
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตของ ปตท.สผ
ปัจจัยบวก
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ ปตท.โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท. และ ปตท.สผ. ยังคงเหมือนเดิม
ปัจจัยลบ
การปรับลดอันดับเครดิตสากลของ ปตท.ความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท. และ ปตท.สผ. ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านี้
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคตของประเทศไทย
ปัจจัยบวก:
ความต่อเนื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ทำให้เกิดการขาดดุลการบรรเทาลงของความกดดันทางการเมืองและสังคม ในระดับที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายภาครัฐในการบริหารประเทศและดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
ปัจจัยลบ:
ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ในระดับที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของหนี้สินของรัฐบาล เช่น เนื่องจากฐานะทางการคลังที่แย่ลง หรือการเพิ่มขึ้นอย่างมากของหนี้สาธารณะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (contingent liabilities)