กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์
(ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National
Long-term Rating) ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL ที่ 'A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
หลังจากบริษัทฯ ประกาศเจตนาที่จะเข้าลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 40
ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco
Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. (ต่อไปรวมกันเรียกว่า “เทสโก้ เอเชีย”) สัดส่วนของหุ้นที่เหลือของเทสโก้
เอเชีย จะเข้าลงทุนโดยบริษัทที่เกี่ยวข้องกันอีก 2 บริษัทในกลุ่ม CP สำหรับรายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดแสดงไว้ในส่วนท้ายของประกาศ
เทสโก้ ประเทศไทย
มีส่วนได้เสียในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ในบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม
จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในประเทศไทย
ในขณะที่ เทสโก้ ประเทศมาเลเซีย
ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในประเทศมาเลเซีย
การประกาศคงอันดับเครดิต
สะท้อนถึงความเห็นของฟิทช์ว่าการเข้าลงทุนดังกล่าวจะทำให้สถานะทางธุรกิจของ CP ALL มีความแข็งแกร่งขึ้น
โดยทำให้ CP
ALL มีเครือข่ายร้านซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ชั้นนำของประเทศ
เพิ่มขึ้นจากเครือข่ายร้านสะดวกซื้อที่เป็นผู้นำตลาดในปัจจุบันและเครือข่ายร้านค้าส่งของ
Makro
ที่มีเดิมอยู่แล้ว
ซึ่งทำให้ฟิทช์คาดว่า CP ALL น่าจะมีความสามารถในการรองรับอัตราส่วนหนี้สินได้สูงขึ้น
ณ อันดับเครดิตในปัจจุบัน หลังจากที่การเข้าลงทุนดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์
ซึ่งเงินลงทุนในครั้งนี้น่าจะใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ทั้งจำนวน
ฟิทช์เห็นว่าแผนการเข้าลงทุนของ
CP
ALL เป็นแผนเชิงกลยุทธ์และคาดว่าน่าจะส่งผลให้มีการประหยัดต้นทุนและมีประโยชน์ส่วนเพิ่มที่ได้รับจากการควบรวมกิจการ
(Synergy)
ต่อกลุ่มบริษัท
อย่างไรก็ตาม ฟิทช์อาจมีการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ CP ALL เป็นลบ
หากหลังจากพิจารณาถึงการประหยัดต้นทุนที่จะเกิดขึ้นแล้ว
ฟิทช์เชื่อว่ายังมีความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญที่ CP ALL อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานในการลดอัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน
หรือ FFO
adjusted net leverage (ซึ่งรวมถึงหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนของเทสโก้
เอเชีย ตามสัดส่วนการถือหุ้นของ CP ALL ด้วย)
ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนให้ลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 5 เท่า
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
การกระจายความเสี่ยงและสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้น:
การเข้าลงทุนในเทสโก้ ประเทศไทย น่าจะทำให้สถานะทางการตลาดของ CP ALL มีความแข็งแกร่งขึ้นและมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้นทั้งในด้านประเภทของสินค้าและบริการที่เสนอขาย
และรูปแบบของร้านค้าที่หลากหลาย Tesco Lotus เป็นเครือข่ายร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เป็นผู้นำตลาดในประเทศไทย
โดยมีเครือข่ายร้านค้าปลีกมากกว่า 1,900 ร้านทั่วประเทศไทย
ซึ่งมีร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มากกว่า 200 ร้าน และร้านค้าปลีกที่มีขนาดเล็กมากกว่า 1,700 ร้าน
การเข้าลงทุนในเทสโก้ ประเทศไทย ทำให้ CP ALL ได้รับประโยชน์ส่วนเพิ่มที่ได้รับจากการควบรวมการสั่งซื้อสินค้าและการรวมเครือข่ายร้านค้ากว่า
13,000 ร้าน
ทั้งในรูปแบบร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และร้านค้าส่ง
มาอยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน
อัตราส่วนหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น:
CP
ALL มีแผนที่จะใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้สำหรับเงินลงทุนจำนวน
3
พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่จะใช้ในการลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 40 ของ เทสโก้
เอเชีย และคาดว่าจะมีการก่อหนี้อีก 4 พันล้านบาทในระดับของเทสโก้ เอเชีย
ฟิทช์คาดว่า FFO
adjusted net leverage ของ CP ALL หลังจากการเข้าลงทุน
จะเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าระดับ 5.5 เท่า ในปี 2564
ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการลงทุนเต็มปี ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ในระดับประมาณ 5 เท่า ณ สิ้นปี
2565
ผลกระทบจาก COVID-19
อยู่ในระดับไม่มากนัก: ฟิทช์คาดว่าการแพร่กระจายของ COVID-19
จะส่งผลให้อัตราการเติบโตของยอดขายรวมของ CP ALL ลดลงมาอยู่ในอัตราร้อยละ
4-5 ต่อปีในปี 2563
จากระดับปกติที่ประมาณร้อยละ 8 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับไม่มากนัก
เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ที่บริษัทฯ ขาย
เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ด้วยระบบออนไลน์และบริการจัดส่ง
น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการที่มีลูกค้าเข้าร้านน้อยลงในระดับหนึ่ง
อัตราส่วนกำไรถูกแรงกดดันในระยะสั้น:
ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา
ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อยอดขาย (EBITDAR Margin) ของ CP ALL จะยังคงอยู่ในระดับประมาณร้อยละ
10 ในปี 2563-2564 (ในปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ
10)
เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้น
อันเป็นผลมาจากการเปิดร้าน 7-Eleven สาขาใหม่ที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ขึ้น
ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากรสูงขึ้น นอกจากนี้ สาขาในต่างประเทศของ Makro ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูง
ในขณะที่รายได้ยังอยู่ในระดับต่ำในช่วงแรกของการเปิดดำเนินการ อย่างไรก็ตาม EBITDAR
Margin ของ
CP
ALL น่าจะค่อยๆ
เพิ่มขึ้นในปี 2565
จากกำไรขั้นต้นที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากการบริหารสัดส่วนของสินค้าที่จำหน่ายในร้าน (Product
Mix) รวมถึงความสามารถในการสร้างรายได้และประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของสาขา
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
CP ALL มีสถานะทางการตลาดในประเทศไทยที่แข็งแกร่งด้วยเครือข่ายร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
ซึ่งเปรียบเทียบได้กับบริษัทที่เป็นผู้นำในธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย
จำกัด (มหาชน) หรือ SCC (A+(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ)
ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซิเมนต์และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม CP
ALL มีความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งกว่า
ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงกว่าคู่แข่งรายใหญ่อันดับสองเป็นอย่างมากนอกจากนี้ CP ALL ยังมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอตลอดวัฏจักรของธุรกิจมากกว่า
เนื่องจาก CP
ALL จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน
ในขณะที่กระแสเงินสดของ SCC ต้องเผชิญกับความต้องการสินค้าที่มีลักษณะเป็นวัฏจักรและความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม SCC มีอันดับเครดิตสูงกว่า
CP
ALL หนึ่งอันดับ
เนื่องจากมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่าเป็นอย่างมาก
CP ALL มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกันกับ
บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC (A(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ)
ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย
เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่าของ CP ALL ได้รับการชดเชยจากการมีสถานะผู้นำตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจค้าปลีกประเภทอาหารในประเทศไทย
อันดับเครดิตของ CP ALL อยู่ในระดับเดียวกับสถานะเครดิตโดยลำพังของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด
(มหาชน) หรือ GPSC
(อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่
A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a(tha)) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่อันดับสองของประเทศ
GPSC
มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้มากกว่า
CP
ALL เนื่องจากมีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ซึ่งช่วยป้องกันบริษัทฯ จากความเสี่ยงด้านปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม
ด้วยสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของ CP ALL รวมถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานส่วนใหญ่ที่มาจากความต้องการที่สม่ำเสมอของสินค้าที่ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน
ทำให้ชดเชยการที่รายได้ของ CP ALL ไม่มีสัญญาระยะยาวมารองรับ ทั้งนี้
อัตราส่วนหนี้สินของทั้งสองบริษัทอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
รายได้รวมมีการเติบโตในอัตราร้อยละ 4-5 ต่อปี ในปี 2563 และร้อยละ8-9 ต่อปีในปี 2564 -2565EBITDAR Margin คงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ในปี 2563-2565ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 2.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2563-2564 ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในต่างประเทศของ Makro ด้วยการลงทุนในสัดส่วนร้อยละ 40 ในเทสโก้ เอเชียเป็นจำนวนเงิน 9.6 หมื่นล้านบาท (รับรู้แบบวิธีส่วนได้เสีย หรือ Equity Method) โดยเงินลงทุนดังกล่าวมีแหล่งที่มาจากเงินกู้ทั้งจำนวน และไม่มีเงินปันผลจ่ายจากเทสโก้ ประเทศไทยในปี 2563-2565
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
FFO adjusted net leverage อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยลบ:
FFO adjusted net leverage อยู่ในระดับสูงกว่า 4.5 เท่าอย่างต่อเนื่องEBITDAR Margin ที่ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 7.5 อย่างต่อเนื่อง
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: สภาพคล่องของ CP ALL มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากเงินสดในมือจำนวน
3.1 หมื่นล้านบาท
ณ สิ้นปี 2562
และความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง
รวมถึงความสามารถในการออกหุ้นกู้ในตลาดตราสารหนี้
CP
ALL มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ยประมาณ
1.7 แสนล้านบาท
(รวมหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนจำนวน 2 หมื่นล้านบาท) ณ สิ้นปี 2562 โดยประมาณร้อยละ 10
ของหนี้สินดังกล่าวจะครบกำหนดชำระคืนในปี 2563 ประมาณร้อยละ 92
ของหนี้สินทั้งหมดของ CP ALL เป็นหุ้นกู้สกุลเงินบาท โดยร้อยละ 45
ของจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้มีหลักประกันเป็นหุ้นของ บริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) (Makro,
A(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ)
รายการอันดับเครดิตทั้งหมดของ CP ALL มีดังนี้
คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ที่ 'A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ 'F1(tha)’คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้มีประกันของบริษัทฯ ที่ 'A(tha)’คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของบริษัทฯ ที่ 'A(tha)’คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัทฯ ที่ 'BBB+(tha)’