กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
จากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัส COVID - 19 ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งกำลังทวีความรุนแรง ทำให้ประเทศมาเลเซียมีการควบคุมการเข้าออกประเทศ ส่งผลให้มีการปิดด่านนำเข้าและส่งออก ตั้งแต่วันที่ 18 - 31 มีนาคม 2563 ซึ่งประเทศมาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางรายใหญ่ของโลก มีการนำเข้าวัตถุดิบน้ำยางข้นจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่ามาเลเซียจะปิดประเทศแต่ความต้องการวัตถุดิบน้ำยางข้นจากไทยเพื่อใช้ผลิตถุงมือยางยังคงมีต่อเนื่อง ในส่วนของประเทศจีนชะลอการนำเข้าสินค้ายางพาราจากไทย แต่ยังคงคำสั่งซื้อเดิม และจะไม่มีการยกเลิกแต่อย่างใด
นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เบื้องต้นการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ร่วมหารือกับสถานกงสุลมาเลเซีย และสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางของมาเลเซีย เพื่อบรรเทาผลกระทบในอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือ ซึ่งได้ประเมินสต๊อกวัตถุดิบที่ใช้จะผลิตได้แค่ 3 วันเท่านั้น ล่าสุดรัฐบาลมาเลเซียได้อนุญาตเปิดด่านนำเข้าน้ำยางข้นจากประเทศไทย เพื่อผลิตถุงมือได้แล้ว ซึ่ง กยท ได้เร่งประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ 5 สมาคมเกี่ยวกับยางพาราและโลจิสติกส์ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหากรณีผลิตภัณฑ์ยางพาราประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากน้ำยางข้น ที่ยังไม่สามารถผ่านด่านมาเลเซียได้
นอกจากนี้ กยท. ได้ถือโอกาสร่วมกันหาแนวทางการพัฒนาตลาดยางพาราของไทยทั้งระบบให้มีเสถียรภาพ โดยในส่วนของ กยท. ยังคงเดินหน้าทำการตลาดเชิงรุก ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสานต่อแนวทางของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ลงนาม MOU กับหลายประเทศ เช่น อินเดีย จีน ตุรกี ภายใต้ข้อตกลงซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางปริมาณกว่า 400,000 ตัน ประกอบด้วย ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง STR20 น้ำยางข้น และไม้ยางพารา ปริมาณ 2,500,000 ลูกบาศก์ฟุต รวมไปถึงผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา อย่างไรก็ตาม กยท. ได้เร่งรัดให้มีการส่งมอบสินค้าโดยเร็ว
นายประพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของการพัฒนาตลาดยางพาราของไทย คือช่วยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ตั้งแต่เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง มีความเข้มแข็ง เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ กยท. ต้องเข้าดูแล โดย กยท. จะเป็นจะเป็นแกนกลางในการนำผู้ประกอบการเหล่านี้ในทำการขยายตลาด ที่นอกเหนือจากเดิม เพราะ กยท. มีความเป็นรัฐ มีความน่าเชื่อถือ มีงบประมาณในการสนับสนุนภายใต้กองทุนพัฒนายางพารา 49(3) และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักคือ หน่วยธุรกิจ (BU) ซึ่ง กยท. จะพัฒนาระบบการจัดการบริหารงานของหน่วยธุรกิจให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการกระจายคำสั่งซื้อสู่สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการ โดยวางหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติที่ทุกคนยอมรับได้