กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินโครงการฝึกอบรมหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัย เพื่อให้ทุกตำบลในจังหวัดกาญจนบุรีมีทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบลครบทุกแห่งภายใน ปี 2551 พร้อมทั้งสามารถปฏิบัติภารกิจด้านการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความพร้อมในการเผชิญเหตุ และสามารถนำผู้บาดเจ็บส่งสถานบริการสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัย นายไชโย ฤทธิรงค์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นับวันยิ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ประกอบกับพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยในเขตท้องถิ่นของตนเอง จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรของท้องถิ่น ให้มีความพร้อมปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้จัดดำเนินโครงการฝึกอบรมหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัย เพื่อพัฒนาศักยภาพ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถปฏิบัติภารกิจด้านการค้นหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถ นำผู้บาดเจ็บส่งสถานพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ได้ฝึกอบรมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัย ให้กับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดกาญจนบุรีไปแล้ว 10 รุ่น จำนวน 620 คน จากทั้งหมด 122 แห่ง เหลืออีก 60 แห่ง ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2551 และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย สำนักงาน ปภ. จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัย ระยะที่ 3 รุ่นที่ 11 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี โดยผู้เข้ารับการอบรมเป็นสมาชิก อปพร. ขององค์กรปกครองส่วนท้องท้องถิ่น อำเภอท่ามะกา และอำเภอด่านมะขามเตี้ย จำนวน 6 แห่งๆละ 10 คน รวม 60 คน ประกอบด้วย อบต. อุโลกสี่หมื่น อบต.ดอนขมิ้น อบต.ดอนชะเอม อบต.พงตึก อบต.ด่านมะขามเตี้ย ซึ่งการฝึกอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ทุกตำบลในจังหวัดกาญจนบุรีมีทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบลครบทุกตำบลภายในปี 2551 พร้อมทั้งสามารถปฏิบัติภารกิจด้าน การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความพร้อมในการค้นหาผู้ประสบภัย การเผชิญเหตุ และสามารถนำผู้บาดเจ็บส่งสถานบริการสาธารณสุขได้รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งหากขยายโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัยให้ครอบคลุมทุกตำบล จะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีหลักประกันด้านความปลอดภัยที่มีมาตรฐานสูงขึ้น รวมถึงประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วม ในการบริหารจัดการสาธารณภัยอย่างครบวงจร ตลอดจนเกิดความตระหนัก ตื่นตัว มีจิตสำนึกในการป้องกันตนเองจากสาธารณภัย และเป็นการเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในแต่ละชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในจังหวัดกาญจนบุรี อีกทั้งยังทำให้จังหวัดกาญจนบุรี มีทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล ที่มีความพร้อมในการเผชิญเหตุ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัย