กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ขานรับมาตรการ โซเชียล ดิสแทนซิ่ง ลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 หยุดยั้งการแพร่ระบาดโรคให้ได้ผลโดยเร็ว โดยปรับระบบบริการแผนกผู้ป่วยนอก จัดคิวเข้าตรวจรอบละ 20 คน ปรับเวลาจ่ายยาเดิมให้ผู้ป่วยรายเก่าเร็วขึ้นเริ่ม 8.00 น. และตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปจะเริ่มใช้ระบบจ่ายยาให้ผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าที่มีอาการทางจิตเป็นปกติ ทุกสิทธิการรักษา ทุกพื้นที่ แบบไดรฟ-ทรูที่ร้านยาใกล้บ้าน และจัดส่งยาทางไปรษณีย์โดยผ่านระบบแอพพลิเคชั่น
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในผู้ป่วยจิตเวชว่า รพ.จิตเวชฯ ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินโรคโควิด-19 และประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในเขตสุขภาพที่ 9 คือจ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ เพื่อดำเนินการมาตรการป้องกันควบคุมโรคให้เป็นไปในแนวเดียวกันอย่างเต็มที่ ซึ่งผู้ป่วยจิตเวชจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการดูแลตนเองต่ำกว่าคนทั่วไปซึ่งเป็นผลมาจากความเจ็บป่วย ขณะเดียวกันการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในช่วงที่มีโรคระบาดจะต้องควบคุมอาการผู้ป่วยให้อยู่ในเกณฑ์ปกติที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมป้องกันโรคแพร่ระบาดได้ดียิ่งขึ้น
นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวว่า สำหรับการขานรับมาตรการ โซเชียล ดิสแทนซิ่ง (Social distancing) หรือการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อของโควิด-19 และหยุดยั้งการแพร่ระบาดให้ได้ผลโดยเร็ว คณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคของรพ.จิตเวชฯได้ปรับแผนบริการลดความแออัดที่แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งมีผู้ป่วยจิตเวชใช้บริการเฉลี่ยวันละ 320 คน โดยจัดผู้ป่วยพร้อมญาติ 1 คน เข้ารอตรวจรอบละ 20 คน และผ่านจุดคัดกรองไข้ทุกคน ในส่วนของผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าที่มารับยาเดิมตามนัดที่แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งมีวันละประมาณ 110 คน ได้ปรับเวลาให้บริการเร็วขึ้นกว่าเดิมคือเริ่มตั้งแต่ 8.00 น.เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้วและได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยและญาติเป็นอย่างดี
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อว่า บริการอีก 2 รูปแบบใหม่ ที่รพ.จิตเวชฯจะนำมาใช้ในการลดความแออัดผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอก และลดการเดินทางของผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าและญาติให้น้อยที่สุดหรือให้อยู่ใกล้บ้านที่สุดในช่วง 4 เดือนนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 ไปจนถึง 31 กรกฎาคม 2563 เป็นบริการเพิ่มเติมจากโครงการจ่ายยาจิตเวชที่ร้านยาใกล้บ้านซึ่งขณะนี้มีร้านขายยาเข้าร่วมโครงการ 10 แห่งซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา โดยรูปแบบแรกคือการจ่ายยาให้ผู้ป่วยแบบไดรฟ-ทรู ( Drive- Thru ) ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม และมีอาการทางจิตเป็นปกติ โดยจะใช้ระบบติดตามอาการของผู้ป่วยทางโทรศัพท์ตามเกณฑ์มาตรฐาน จากนั้นเภสัชกรจะจัดยาให้กินที่บ้านนานขึ้นเป็นเวลา 3-6 สัปดาห์ และนัดให้ผู้ป่วยไปรับยาได้ที่ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการรับยาจิตเวชใกล้บ้านกับรพ.จิตเวชฯ ตามที่ผู้ป่วยสะดวกที่สุด โดยไม่ต้องผ่านการคัดกรองจากเภสัชกรที่ร้านยาอีก
รูปแบบที่ 2 คือการจ่ายยาจิตเวชทางไปรษณีย์ ใช้กับผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา ทุกพื้นที่ โดยผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะรับยาทางไปรษณีย์ จะต้องได้รับการประเมินอาการทางจิตของผู้ป่วยในรูปแบบแอพพลิเคชั่น ซึ่งใช้ง่าย ใช้ได้หลายกลุ่มโรค เช่น โรคจิตเภทซึ่งพบได้บ่อยที่สุด รวมทั้งโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น รายงานผลแบบปัจจุบันทันที หากผู้ป่วยมีอาการทั่วไปปกติดี ไม่มีปัญหาที่เป็นอันตรายใดๆ เภสัชกรจะดำเนินการจัดยาและส่งไปที่บ้านของผู้ป่วยโดยตรงทางไปรษณีย์ ผู้ป่วยและญาติที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 0-4423-3999 ในวันและเวลาราชการ
อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขอความร่วมมือญาติให้ดูแลผู้ป่วยเป็นพิเศษ โดยให้ผู้ป่วยกินยาให้ครบตามแพทย์สั่ง ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลางส่วนตัวตักอาหารกรณีที่รับประทานร่วมวงกับคนอื่น ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวเช่นผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ร่วมกับคนอื่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค และไม่คลุกคลีกับผู้ที่กำลังป่วยเป็นไข้หวัด หากรู้สึกเครียด กังวลใจ สามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว