กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในภูมิภาคต่าง ๆ พบว่าสถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับผ้าและเครื่องแต่งกายทุกแห่ง จะเปิดการเรียนการสอนการทำหน้ากากผ้าเป็นคอร์สพิเศษ ให้แก่ผู้เรียน ทั้งนักเรียนและประชาชนทั่วไปและเชิญชวนให้ร่วมกันผลิตหน้ากากอนามัยผ้า เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 อย่างเต็มศักยภาพ
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่าจากเดิมที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ตั้งเป้าการผลิตหน้ากากอนามัยผ้าไว้ที่ 200,000 ชิ้น ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2563 ปรากฏว่าในวันที่ 23 มีนาคม 2563 นี้ สอศ. สามารถผลิตหน้ากากอนามัยผ้า ได้มากกว่า 450,000 ชิ้น นับว่าเป็นการแสดงพลังของชาวอาชีวะเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทั้งนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากร ตลอดจนประชาชนที่ได้เข้ามาร่วมเรียน และช่วยกันผลิตหน้ากากอนามัยผ้ามีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ โดยระหว่างนี้สถานศึกษาก็จะดำเนินการผลิตหน้ากากอนามัยผ้าไปอย่างต่อเนื่องเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่
ด้านดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า จากนโยบายของ สอศ. ในการช่วยประชาชน ช่วยชาติ ผลิตหน้ากากอนามัยผ้า และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อแจกจ่ายประชาชน มีสถานศึกษาในสังกัดกว่า 300 แห่ง ที่เข้าร่วมดำเนินการ โดยจำแนกเป็นการผลิตหน้ากากตามแบบของ สอศ. คือหน้ากากอนามัยผ้า ที่ผลิตจากผ้าฝ้าย และฝ้ายมัสลิน 3 ชิ้น สามารถถอดเปลี่ยนไส้แผ่นกรองที่มีอายุการใช้งานได้มากถึง 2 ปี และพิมพ์ลายโลโก้ “อาชีวะฝีมือชน” จำนวน 55 แห่ง ผลิตจำนวนรวม 200,000 ชิ้น นอกจากนี้ยังมีการผลิตหน้ากากอนามัยผ้าโดยสถานศึกษาอื่น ๆ ที่มีการเรียนการสอนงานผ้า และเครื่องแต่งกายต่าง ๆ อีกจำนวน 200 แห่ง ผลิตจำนวนรวม 208,250 ชิ้น เพื่อใช้ในสถานศึกษา และให้บริการแจกจ่ายแก่ผู้มาติดต่อราชการ และชุมชน และสถานศึกษาที่ไปผลิตร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่อีกจำนวน 45 แห่ง โดยผลิตรวมจำนวน 50,000 ชิ้น รวมถึงการผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือนับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2563 จนถึงวันนี้ (23 มี.ค.63) ได้มีการผลิตและแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในภาพรวมกว่า 35,000 ขวด (100 ml/ขวด)