กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าในความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Agreement between the kingdom of Thailand and Japan for Economic Partnership) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “เจเทปปา (JTEPA)” นับเป็นความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่สำคัญความตกลงหนึ่ง เพราะญี่ปุ่นเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยมาช้านาน อีกทั้งยังเป็นคู่ค้าสำคัญในลำดับต้นๆ โดยมีมูลค่าการค้ารวม โดยเฉลี่ยในปี 2548-2550 ปีละ 1,624,225.30 ล้านบาท เป็นการส่งออก จากไทย 618,979.33 ล้านบาท และเป็นการนำเข้าจากญี่ปุ่น 1,005,246.00 ล้านบาท โดยสรุปเรายังเสียดุลการค้า ปีละร่วม 386,266.67 ล้านบาท
ภายใต้กรอบความตกลง JTEPA โดยเฉพาะในส่วนของการเปิดเสรีจากสินค้าและการลดภาษีศุลกากร มีทั้งส่วนที่ญี่ปุ่นให้สิทธิพิเศษกับฝ่ายไทย และในขณะเดียวกันก็มีส่วนที่เราจะต้องลดหย่อนหรือ ผ่อนปรนให้กับฝ่ายญี่ปุ่นด้วย ทั้งนี้ เพื่อขยายการค้าระหว่างกันให้กว้างขวางขึ้น ในส่วนที่ฝ่ายไทยให้กับญี่ปุ่นในการยกเว้นภาษีศุลกากรที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่มีโควตาตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ซึ่งผลประโยชน์จะตกแก่ผู้นำเข้าของไทยในการลดภาระที่จะต้องเสียภาษีนำเข้า เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่นำเข้ามารีดเย็นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่นอย่างมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีโรงงานผู้ผลิตเหล็กและเหล็กกล้าโดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อนด้วย จึงมีประเด็นปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการโควตานำเข้าเป็นไปอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาที่ ผู้นำเข้าสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง JTEPA อย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าภายในหรือเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
กรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายในการบริหารจัดการกับปริมาณโควตาสินค้าหมวดเหล็กและเหล็กกล้าที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นดังกล่าว มุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างโปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม โดยกระทรวงพาณิชย์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการนำเข้าสินค้าหมวดเหล็กและเหล็กกล้าที่มีโควตาตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น โดยอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน เป็นผู้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรโควตาที่ผ่านมาซึ่งเริ่มมีผลบังคับ ตั้งแต่วันที่ความตกลง JTEPA มีผลบังคับ คือ วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศ เรื่อง การนำเหล็กและเหล็กกล้าที่มีโควตาเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงระหว่าง
ราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2550 กำหนดให้เหล็กและเหล็กกล้าซึ่งมีถิ่นกำเนิด และส่งตรงมาจากประเทศญี่ปุ่นที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรภายใต้โควตาที่กำหนดตามความ ตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจตามบัญชีท้ายประกาศเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองแสดงต่อกรมศุลกากร ได้แก่ หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : C/O) ที่ออกโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของประเทศญี่ปุ่น และหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีศุลกากรที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ หรือหน่วยงานของรัฐที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมาย ทั้งนี้ การขอและการออกหนังสือรับรองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามระเบียบกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับเหล็กและเหล็กกล้าที่มีโควตาตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่น สำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2550
สำหรับสินค้าเหล็กและเหล็กกล้าที่มีโควตาตามบัญชีแนบท้ายประกาศและระเบียบกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าว แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าอื่นๆ เป็นม้วน ไม่ได้ทำ ไปมากกว่ารีดร้อนที่ผ่านการกัดล้างแล้ว ตามพิกัดศุลกากร 7208.25.10 7208.25.90 7208.26.00 และ 7208.27.00 กลุ่ม 2 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าอื่นๆ เป็นม้วนไม่ได้ทำไปมากกว่ารีดร้อนในพิกัดศุลกากร 7208.37.00 7208.38.00 และ 7208.39.00 และ กลุ่ม 3 ผลิตภัณฑ์ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าอื่นๆ เป็นม้วนไม่ได้ทำไปมากกว่ารีดร้อน สำหรับใช้ในการผลิตยานยนต์หรือชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบของยานยนต์ในพิกัดศุลกากร 7208.37.00 7208.38.00 และ 7208.39.00 โดยปริมาณเหล็กและเหล็กกล้าที่จะออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีศุลกากรให้เป็นไปตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิขอหนังสือรับรอง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการออกหนังสือรับรอง และการกำหนดรอบระยะเวลานำเข้าตามระเบียบกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวให้เป็นไปตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศ
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยต่อไปว่าในปี 2550 ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และประกาศผลการจัดสรร รวมทั้งดำเนินการออกหนังสือรับรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนในปี 2551 ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข รวมทั้งประกาศผลการจัดสรรสำหรับการนำเข้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ไปแล้วเช่นกัน มีสาระสำคัญโดยกำหนดผู้มีสิทธิขอหนังสือรับรอง ปริมาณที่จะออกหนังสือรับรองและวิธีการจัดสรรตามกลุ่มสินค้า ดังนี้
สินค้ากลุ่ม 1 ผู้มีสิทธิขอหนังสือรับรองต้องเป็นนิติบุคคลที่ประกอบกิจการค้าเหล็กหรือเหล็กกล้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมในปริมาณ 227,500 เมตริกตัน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ 1 ให้แก่ผู้มีประวัติการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นตามประวัติการนำเข้าของแต่ละรายเฉลี่ยสามปีย้อนหลัง จำนวน 159,250 เมตริกตัน และส่วนที่ 2 ให้แก่ผู้ขอรับการจัดสรรที่ไม่มีประวัติการนำเข้า จำนวน 68,250 เมตริกตัน โดยจัดสรร
ให้รายละไม่เกิน 1,000 เมตริกตัน กรณีปริมาณที่ยื่นขอรับจัดสรรรวมกันมากกว่าปริมาณดังกล่าว จะปรับลดส่วนจัดสรรลงตามสัดส่วน และผู้ที่ประสงค์จะขอรับการจัดสรรในส่วนนี้จะต้องยื่นคำขอรับการจัดสรรภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551
สินค้ากลุ่ม 2 ผู้มีสิทธิขอหนังสือรับรองต้องเป็นโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องในปริมาณ 88,250 เมตริกตัน และการจัดสรรให้แต่ละรายจะพิจารณาจัดสรรตามผลการหารือร่วมกันระหว่างผู้นำเข้า สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประกอบกับประวัติการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นของแต่ละราย
สินค้ากลุ่ม 3 ผู้มีสิทธิขอหนังสือรับรองต้องเป็นโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์หรือชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบยานยนต์ หรือเป็นโรงงานผลิตยานยนต์หรือชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบยานยนต์ ปริมาณรวม 153,500 เมตริกตัน การจัดสรรให้แต่ละรายจะพิจารณาจัดสรรเช่นเดียวกับสินค้ากลุ่ม 2
ผู้สนใจจะขอรับสิทธิในการยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับเหล็กและเหล็กกล้าที่มีโควตาตามความตกลง JTEPA ดังกล่าว ขอได้ติดตามและดูรายละเอียดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดสรร รวมทั้งประกาศ ผลการจัดสรรสำหรับแต่ละราย ได้จาก www.dft.moc.go.th หรือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักบริหารการค้า สินค้าทั่วไป หรือสำนักบริการการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 02 5474771-86, 02 5475121 หรือสายด่วน 1385