กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๓ ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand) ขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การยูเนสโกภายในเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ นี้ ซึ่งยูเนสโกจะใช้เวลาในการพิจารณาอย่างน้อย ๑ ปี และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนในรอบถัดไป ซึ่งหลังจากที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ มีรายการมรดกภูมิปัญญาฯ ของไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนฯ แล้ว ๒ รายการ ได้แก่ “โขน” เมื่อปี ๒๕๖๑ และ “นวดไทย” เมื่อปี ๒๕๖๒ โดย “โนรา” อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อขึ้นบัญชีภายในปี ๒๕๖๔
นายอิทธิพล กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เห็นความสำคัญของประเพณี “สงกรานต์” โดยได้ประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๕๔ เนื่องจากเป็นประเพณีที่งดงาม ทรงคุณค่าและมีความสำคัญ สะท้อนถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน ทั้งยังมีความโดดเด่นสอดคล้องตามลักษณะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ๔ สาขา ได้แก่ สาขามุขปาฐะ สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล สาขาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล และสาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม นอกจากนี้ “สงกรานต์” ยังเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในฐานะของ “ปีใหม่ไทย” โดยมีเรื่องเล่ามุขปาฐะที่กล่าวถึงความเป็นมาของวันสงกรานต์และนางสงกรานต์ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้โปรดเกล้าฯ ให้จารึกตำนานสงกรานต์ไว้บนแผ่นศิลา ประดับไว้บริเวณศาลารอบพระมณฑปด้านทิศเหนือ ภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
นอกจากนี้ วันสงกรานต์ถูกกำหนดขึ้นจากองค์ความรู้ทางด้านโหราศาสตร์และดาราศาสตร์ของไทย ในการคำนวณปฏิทินตามแบบสุริยคติ สามารถรู้วันเคลื่อนย้ายของดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีใหม่ โดยปีใหม่ไทย จะหมายถึงวันและเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษในเดือนเมษายนเท่านั้น การเฉลิมฉลองวันสงกรานต์ มีขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลโดยกลุ่มคนเชื้อสายต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ซึ่งตระหนักในความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและมีความเชื่อทางพุทธศาสนา โดยจัดกิจกรรมตามขนบธรรมเนียมของชุมชนท้องถิ่น สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงกลางเดือนเมษายนของทุกปี โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม และสาธารณสมบัติของชุมชน อาบน้ำ สระผมในลักษณะที่เป็นพิธีกรรม ไปวัดเพื่อสักการบูชา พระรัตนตรัย และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว แสดงความคารวะและขออโหสิกรรม ต่อผู้อาวุโสหรือผู้มีพระคุณ รวมถึงแสดงความปรารถนาดีต่อผู้อื่นด้วยการอวยพรและรดน้ำ
นายอิทธิพล กล่าวว่า ทั้งนี้ คุณสมบัติของสงกรานต์ในประเทศไทยตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโกในข้อต่างๆ อาทิ ข้อที่ ๑.สอดคล้องกับลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตามที่นิยามไว้ ในมาตรา ๒ อนุสัญญาฯ เนื่องจากสงกรานต์เป็นการแสดงออกทางมุขปาฐะ การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล และงานช่างฝีมือดั้งเดิม ข้อที่ ๒ การขึ้นบัญชีเรื่องที่นำเสนอเป็นคุณประโยชน์ และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันแสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ทั้งยังสะท้อนถึงความหลากหลายและช่วยให้ผู้คนในภูมิภาคต่างๆ ได้เข้ามาใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงและแตกต่างระหว่างกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สวธ. ได้ศึกษาข้อมูลทางวิชาการและแนวทางการนำเสนอสงกรานต์ในประเทศไทย โดยร่วมมือกับนักวิชาการและชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเอกสารตามแบบฟอร์มของยูเนสโก ทั้งนี้ หากได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนฯ จะส่งผลให้เกิดการอนุรักษ์สืบสาน และสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยว เพิ่มเศรษฐกิจให้กับชุมชนและประเทศชาติ ตลอดจนการสร้างการรับรู้และยกย่องเชิดชูมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทยต่อนานาชาติ