กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนให้ระวังภัยจากพายุร้อน ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม พร้อมแนะนำให้ดูแลบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ป้ายโฆษณาบริเวณรอบบ้านให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันการหักโค่นล้มทับบ้านเรือนเสียหาย รวมทั้งหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศ และประกาศแจ้งเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด หากเกิดพายุให้หลบพักในอาคารหรือที่กำบังที่มั่นคงแข็งแรง หลีกเลี่ยงการหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ เพราะอาจจะโดนฟ้าผ่าลงมาได้ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี นอกจากจะเป็นช่วงที่ประเทศไทยต้องประสบภาวะความแห้งแล้ง แล้วภัยธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งมักเกิดขึ้นในฤดูร้อน ก็คือ “พายุฤดูร้อน” ซึ่งพายุฤดูร้อนมักเกิดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม จากสถิติพบว่า ส่วนใหญ่มักเกิดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก่อนเกิดพายุฤดูร้อนจะมีสภาพอากาศ ดังนี้ อากาศร้อนอบอ้าว ลมสงบติดต่อกันหลายวัน ท้องฟ้าสลัว มีเมฆมากคล้ายจะมีฝนตก เมฆมีการรวมตัวกันอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอเตือนประชาชนให้ปฎิบัติตน ดังนี้ ก่อนเกิดพายุฤดูร้อน ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ และเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นไว้ใช้ยามฉุกเฉิน อพยพเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยงไว้ในบริเวณที่ปลอดภัย หมั่นดูแลบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง ให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง เพราะอาจโดนลมพายุพัดสร้างความเสียหายได้ ตลอดจนสำรวจต้นไม้บริเวณรอบบ้าน หากพบต้นไม้ที่ใกล้ล้มควรจัดการโค่นทิ้ง และหากพบกิ่งไม้ที่ไม่แข็งแรงควรตัดกิ่งและริดใบออก เพราะหากเกิดพายุ ต้นไม้อาจหักโค่นล้มลงทับบ้านเรือนก่อให้เกิดอันตรายได้ หากสังเกตพบป้ายโฆษณาที่ไม่ได้มาตรฐานควรแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาจัดการแก้ไข อีกทั้งหมั่นติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศ หากมีประกาศเตือนพายุฤดูร้อน ควรเก็บสิ่งของที่สามารถปลิวลมได้ไว้ในที่มิดชิด ในระหว่างเกิดพายุ ควรหลบในอาคารหรือที่กำบังที่มั่นคงแข็งแรง ปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันลมพัดหอบพัดบ้านเรือนพังเสียหาย หากอยู่กลางแจ้งไม่ควรหลบใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา เพราะอาจโดนล้มทับ รวมทั้งไม่หลบใต้เสาไฟฟ้าหรือบริเวณที่มีสื่อล่อฟ้า ไม่ใส่เครื่องประดับ เช่น ทองคำ เงิน ฯลฯ และงดใช้โทรศัพท์ในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพื่อป้องกันฟ้าผ่าทำให้ได้รับอันตราย หลังเกิดพายุ หากมีผู้ได้รับบาดเจ็บควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้เคียงและเร็วที่สุด ถ้ามีต้นไม้ล้มควรตัดทิ้งทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ล้มทับบ้านเรือน หากพบสายไฟฟ้าขาดอย่าเข้าใกล้หรือแตะต้องอย่างเด็ดขาด ให้ทำเครื่องหมายแสดงอันตราย และแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อทำการซ่อมแซมด่วน สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานงานและให้การช่วยเหลือ โดยด่วนต่อไป