วว. แนะเพาะเห็ดฟางในตะกร้า รับประทานในบ้านเรือน เสริมรายได้ครอบครัว อุดมด้วยโภชนาการ ช่วยป้องกันการเติบโตของไวรัสไข้หวัดใหญ่

ข่าวทั่วไป Thursday March 26, 2020 14:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แนะนำ “เพาะเห็ดฟางในตะกร้า” สำหรับรับประทานในครอบครัวหรือนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยที่ วว. ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สาธารณชนทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง “เห็ดฟาง” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Volvariella volvacea เป็นเห็ดกินได้ มีการเพาะเลี้ยงในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการประกอบอาหารเอเชียอย่างแพร่หลาย สรรพคุณทางยาของเห็ดฟาง มีสาร vovatoxin ช่วยป้องกันการเติบโตของไวรัส ที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ ช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับไขมันในเส้นเลือดและโรคหัวใจได้ คุณค่าทางอาหารของเห็ดฟาง 100 กรัม ให้พลังงาน 35 แคลอรี่ โปรตีน 3.2 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 5 กรัม แคลเซียม 8 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 18 มิลลิกรัม เหล็ก 1.1 มิลลิกรัม ไนอะซิน 3.0 มิลลิกรัม และวิตามินซี 7 มิลลิกรัม “เพาะเห็ดฟางในตะกร้า” องค์ความรู้ที่วิจัยและพัฒนาโดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว.มีวิธีการทำ ดังนี้ วิธีการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า แช่ฟางหรือวัสดุที่จะใช้เพาะอื่นๆ เช่น กากทะลายปาล์ม ชานอ้อยแห้ง ในน้ำ หรือน้ำผสม EM ทิ้งไว้อย่างน้อย 1 คืน ให้ฟางนิ่ม และอุ้มน้ำได้ดี (อาจใช้วัสดุอื่น ๆ แทนฟาง เช่น จอกหูหนู ก้อนเห็ดถุงเก่า ผักตบชวา เปลือกมันสำปะหลัง ต้นกล้วย เป็นต้น) เตรียมอาหารเสริมเห็ดฟางเป็นชิ้นเล็กๆ เช่น ต้นกล้วยสับ ผักตบชวาสับ หรือไส้นุ่น จะใช้แบบสดหรือแห้งก็ได้ ถ้าแห้งควรจะแช่น้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง เตรียมเชื้อเห็ดฟาง โดยใช้เชื้อเห็ดฟาง 1 ถุงต่อ 1 ตะกร้า แยกให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เชื้อเห็ดฟางที่ดีต้องมีลักษณะร่วน แห้ง เห็นเป็นเส้นใยสีเหลืองนวล บางครั้งอาจเปลี่ยนเป็นสีน้ำหมาก แต่ถ้าแก่เกินไปจะเห็นเป็นตุ่มดอกเห็ดเล็กๆ ภายในถุงนำฟางที่แช่น้ำใส่ลงในตะกร้า สูงจากก้นตะกร้าประมาณ 2 นิ้ว โรยอาหารเสริมบริเวณข้างตะกร้า โดยโรยสูงประมาณ 1 นิ้ว แบ่งเชื้อเห็ดฟาง ออกเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน นำส่วนที่ 1 โรยบนอาหารเสริมโดยรอบ ขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นการทำ “วัสดุเพาะชั้นที่ 1” (ซึ่งประกอบด้วยการปฏิบัติขั้นตอนที่ 4-5)ทำวัสดุเพาะชั้นที่ 2 โดยทำเช่นเดียวกับขั้นตอนที่ 4 และ 5 ตามลำดับได้ “วัสดุเพาะชั้นที่ 2”ทำวัสดุเพาะชั้นที่ 3 โดยปฏิบัติตามขั้นตอนที่ 4 ส่วนขั้นตอนที่ 5 นั้นต้องโรยอาหารเสริมเต็มผิวหน้าด้านบนหนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วโรยเชื้อเห็ดฟางส่วนที่ 3 ที่แบ่งไว้ โรยจนเต็มผิวหน้าของตะกร้า หลังจากนั้นคลุมผิวหน้าด้วยฟางแช่น้ำบางๆ เว้นที่ห่างจากปากตะกร้าประมาณ 1-2 นิ้ว เพื่อให้เห็ดออกได้ ขั้นตอนนี้ได้ “วัสดุเพาะชั้นที่ 3”รดน้ำลงบนตะกร้าให้ชุ่ม การเรียงตะกร้าสามารถเรียงซ้อนกันได้ถึง 4 ชั้น จากนั้นนำไปเรียงบนพื้นโรงเรือนที่จะเพาะ เป็นพื้นปูนหรือพื้นดินก็ได้ แต่ถ้าเป็นพื้นดินควรปรับพื้นที่ให้สะอาด และถางหญ้าให้เรียบร้อย หากเป็นพื้นที่ที่เคยเพาะเห็ดมาก่อน ควรพรวนดินและตากดินให้แห้งก่อนเพาะคลุมด้วยผ้าพลาสติกบนกองตะกร้า ต้องระวังไม่ให้ผ้าพลาสติกสัมผัสกับตะกร้าโดยตรง จากนั้นทำค้างเตรียมไว้ และนำฟางหรือแสลนดำคลุมทับอีกชั้นหนึ่งทำการบ่มเส้นใยเห็ดฟาง เป็นเวลา 3-4 วัน เมื่อเส้นใยเจริญเต็มตะกร้าแล้วจึงกางผ้าพลาสติกเป็นกระโจมคลุมให้มิด และใช้ไม้ทับขอบพลาสติกเพื่อป้องกันพลาสติกเปิดออก วิธีการดูแลรักษาเห็ดฟางในตะกร้า วันที่ 1–4 คลุมกองเห็ดฟางไว้และควบคุมให้ได้อุณหภูมิประมาณ 37-40 องศาเซลเซียส เพื่อให้เชื้อเห็ดสร้างเส้นใย ขั้นตอนนี้ห้ามเปิดผ้าพลาสติกออก เนื่องจากต้องควบคุมอุณหภูมิและความชื้น (สังเกตได้จากไอน้ำที่เกาะบริเวณผ้าพลาสติก) วันที่ 4-5 เปิดผ้าพลาสติกออก เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศ ถ้าวัสดุเพาะแห้งเกินไปให้รดน้ำบริเวณรอบๆ ตะกร้าเพาะ หลังจากนั้นให้ปิดผ้าพลาสติกให้แน่น วันที่ 5–8 สังเกตเห็นเส้นใยเห็ดเจริญคลุมทั่ววัสดุเพาะ ลดอุณหภูมิลงให้เหลือประมาณ 28-30 องศาเซลเซียส เพื่อกระตุ้นเกิดการสร้างตุ่มดอก โดยการเปิดผ้าพลาสติกออกประมาณ 5-10 นาที แล้วปิดลงตามเดิม บางครั้งอาจรดน้ำบางๆ บริเวณเส้นใยเพื่อเป็นการตัดเส้นใยเชื้อเห็ด หากอุณหภูมิลดลงไม่มาก หรือฟางในตะกร้าค่อนข้างแห้ง ต้องให้น้ำบริเวณรอบๆ ตะกร้า หรือโชยละอองน้ำบริเวณตะกร้าช่วงวันที่ 6-7 จะมีการรวมตัวของเส้นใย เห็นเป็นตุ่มดอกเล็ก ๆ ในขั้นตอนนี้ห้ามเปิดพลาสติกออก เพราะทำให้ดอกเห็ดฝ่อได้ วันที่ 8–9 ดอกเห็ดฟางมีขนาดโตขึ้นจนถึงระยะเก็บเกี่ยวได้ การเก็บดอกเห็ดฟางควรบิดดอกเห็ดออกมาทั้งกลุ่ม อย่าให้กระทบกระเทือนดอกอื่น ไม่ควรใช้มีดตัดเพราะส่วนของดอกเห็ดที่เหลือจะเน่าเสียและลามไปในตะกร้าได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. โทร. 0 2577 9000 (ดร.สาวิตรี วีระเสถียร และนางจิตตา สาตร์เพ็ชร์) โทรสาร 0 2577 9009 ในวันและเวลาราชการ หรือที่ E-mail : tistr@tistr.or.th ทั้งนี้รับชมคลิปวิดีโอเทคโนโลยีน่ารู้ “เพาะเห็ดฟางในตระกร้า” ได้ที่ Line : @tistr หรือที่Facebook Fanpage วว. (https://bit.ly/399bclC)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ