พลิกวิกฤติ สร้างโอกาส! กสอ. เปิดคอร์สเร่งด่วนสอนเอสเอ็มอี ขายออนไลน์ ดีเดย์ 27 มีนาคม ขานรับโควิด-19 ดันอีคอมเมิร์ซบูม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 26, 2020 15:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัวโครงการอบรมออนไลน์ “ปั้น SMEs ค้าออนไลน์สู้วิกฤตโควิด-19" ที่มาพร้อม 6 หลักสูตรเด็ด เพื่อเพิ่มทักษะผู้ประกอบการแบบเร่งด่วน 3 เดือน ดีเดย์ครั้งแรก 27 มีนาคมนี้ คาดผู้ประกอบการเข้าร่วมอบรมออนไลน์ 5,000 ราย พร้อมแนะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน เร่งปรับการตลาดและขยายช่องทางออนไลน์ (E-commerce) ผ่านออนไลน์มาร์เก็ตเพลส อาทิ ไทยแลนด์ โพสต์มาร์ท ลาซาด้า ช้อปปี้ อาลีบาบา อเมซอน และโซเชียลมีเดียขานรับวิกฤติโควิด-19 ดันอีคอมเมิร์ซเติบโต 20-50% นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ภายในประเทศไทยส่งผลให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าจากออฟไลน์มาสู่ช่องทางออนไลน์ (E-commerce) มากขึ้น ทำให้ตลาดออนไลน์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโต 20-50% (ข้อมูล: ลาซาด้า) ดังนั้น เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ปรับเปลี่ยนมาดำเนินการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อทดแทนในช่วงที่พฤติกรรมของคนไทยชะลอการซื้อผลิตภัณฑ์ตามสถานที่สาธารณะและร้านค้าต่าง ๆ กสอ. จึงเตรียมเปิดตัวโครงการ “ปั้น SMEs ค้าออนไลน์สู้วิกฤตโควิด-19” คอร์สอบรมบนออนไลน์ไลฟ์สตรีมเป็นครั้งแรก ซึ่งจะมีด้วยกัน 6 หลักสูตร ได้แก่ 1. ขายสินค้าออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook) 2. ขายสินค้าออนไลน์ ผ่านไลน์ (Line) 3. กระตุ้นยอดขายด้วย กูเกิ้ลแอดเวิร์ด (Google Adwords) 4. การขายสินค้าผ่านยูทูป (You Tube) 5. ตอบลูกค้าทันใจ ปิดการขายด้วยแชทบอท (Chat Bot) และ 6. กระตุ้นยอดขายด้วยภาพถ่ายและวีดีโอ ซึ่งการตลาดออนไลน์ (E-commerce) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญด้านการตลาดในการสร้างการรับรู้ตราสินค้า การสร้างอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และสร้างยอดขาย โดยในช่วงนี้ตลาดออนไลน์มีอัตราการเติบโตมากกว่าภาวะปกติ ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ควรดำเนินการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ในเชิงรุก ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายแพลตฟอร์ม ประกอบด้วย มาร์เก็ตเพลส อย่างไทยแลนด์โพสต์มาร์ท (Thailandpostmart.com) ลาซาด้า (Lazada) และช้อปปี้ (Shopee) โซเชียลมีเดียผ่านทางเฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) ไลน์ (Line) ยูทูป (You Tube) หรือกระทั่งบนเว็บไซต์ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมหาแนวทางการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลอัจฉริยะในการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลักดันให้ผู้ประกอบการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ มีด้วยกัน 2 รูปแบบ ประกอบด้วย 1. การขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป (Business to Consumer: B2C) ผ่านแพลตฟอร์มลาซาด้า (Lazada) และช้อปปี้ (Shopee) ซึ่งการทำตลาดบนแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส ผู้ประกอบการควรวางกลยุทธ์ราคาให้สอดรับกับการแข่งขันด้านราคาผ่านในรูปแบบการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพราะราคาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค พร้อมกับมุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมถึงการสื่อสารถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการ (Content Marketing) ควรสร้างเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างเหนือคู่แข่ง และ 2. การจับคู่ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business: B2B) ระหว่างผู้ประกอบการไทยด้วยกันเองและผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศผ่านทางอาลีบาบา (Alibaba) และอเมซอน (Amazon) ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนควรศึกษาตลาดในประเทศนั้น ๆ พร้อมกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะเข้าไปทำตลาด รวมทั้งการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน เพื่อการบริหารจัดส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินการ ทั้งนี้ กสอ.จะเริ่มเปิดอบรมโครงการ “ปั้น SMEs ค้าออนไลน์สู้วิกฤตโควิด-19” ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ถึง เดือนมิถุนายน 2563 โดยจะดำเนินการทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ 09.00 – 16.00 น. คาดการณ์มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน เข้าร่วมอบรมราว 15,000 ราย และนับตั้งแต่ตุลาคม 2562 - กันยายน 2563 คาดการณ์มีกลุ่มประกอบการเข้าร่วมอบรมประมาณ 20,000 ราย ซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 600 ล้านบาท สำหรับโครงการเพิ่มศักยภาพ SMEs ด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหนึ่งในภารกิจหลักในการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ของ กสอ. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนให้มีความรู้ความสามารถในการนำโซเชียลมีเดียในโลกออนไลน์มาใช้เป็นเครื่องมือประยุกต์ในการดำเนินธุรกิจและเป็นการปูพื้นฐานให้แก่ผู้ประกอบการก่อนยกระดับเพื่อเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศสู่การเพิ่มยอดขายอย่างยั่งยืนต่อไป นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ