กรุงไทยคาร์เร้นท์ฯ เผยรายได้ปี 2550 โต 22 เปอร์เซ็นต์ ไม่หวั่นตลาดรถเช่าปี 2551 แข่งขันเดือด เตรียมทุ่มงบซื้อรถเพิ่ม 1,500 คัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 12, 2008 16:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--เเบรนด์คอม คอนซัลเเทนส์
กรุงไทยคาร์เร้นท์ฯ เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2550 มีรายได้รวมจากการดำเนินงานกว่า 1,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 22 กำไรสุทธิรวมกว่า 200 ล้านบาท สำหรับปี 2551 เตรียมทุ่มงบกว่า 1,200 ล้านบาท ซื้อรถเพิ่มอีกอย่างน้อย 1,500 คัน พร้อมตั้งเป้าเติบโตร้อยละ 10-15 มั่นใจคุณภาพรถและบริการช่วยเพิ่มฐานลูกค้าและรายได้ แม้ตลาดธุรกิจรถเช่ามีการแข่งขันสูงมากในปัจจุบัน
นายพิเทพ จันทรเสรีกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ผลการดำเนินงานของของบริษัทฯ ในปี 2550 เติบโตได้ตามความคาดหมาย แม้ต้องประสบกับปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น จากการที่หลายค่ายใช้กลยุทธ์ตัดราคากันเอง ทั้งนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวมจากการดำเนินงาน 1,211.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ร้อยละ 22 และมีกำไรสุทธิรวมจากการดำเนินงาน 212.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 15 ในแง่ส่วนแบ่งตลาดธุรกิจรถเช่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10 อยู่ในอันดับ 3 มีลูกค้าราว 500 ราย”
ปัจจุบันลูกค้าหลักของกรุงไทยคาร์เร้นท์ฯ เป็นบริษัทเอกชนร้อยละ 75 ที่เหลือร้อยละ 25 เป็นหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นลูกค้าที่เช่าระยะยาว (Operating Lease) ร้อยละ 90 และเช่าระยะสั้น (Short Term Rent) ร้อยละ 10
นายพิเทพ กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจรถเช่าว่า “ธุรกิจรถเช่าในปีที่ผ่านมามีการแข่งขันเรื่องราคาดุเดือดกว่าช่วงก่อนหน้านี้มากและคู่แข่งก็เพิ่มจำนวนขึ้นมากเช่นกัน โดยคู่แข่งหลักๆ มีอยู่ประมาณ 10 ราย ที่เหลือเป็นผู้ให้บริการรถเช่าระยะสั้นกว่า 100 ราย สำหรับภาพรวมในปีนี้คาดว่าตลาดรถเช่าจะทรงตัวตามตลาดรถรวม อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มองว่าลูกค้าจะหันมาเช่ารถเพิ่มมากขึ้นกว่าปี 50 เนื่องจากต้องการเปลี่ยนไปใช้รถที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมและวางแผนการใช้จ่ายได้ง่ายกว่า ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะมีอายุสัญญาเช่าให้เลือกตามความเหมาะสม เช่น 3 ปี หรือ 5 ปี และไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ กรณีแชร์รถเช่าที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงนี้น่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจของบริษัทเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ในการเลือกบริษัทผู้ให้บริการรถเช่าที่มีความน่าเชื่อถือสูง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นตลาดธุรกิจรถเช่าในระบบโดยรวมได้อีกทางหนึ่ง”
ด้านนายพิชิต จันทรเสรีกุล รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวเสริมว่า “สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดปี 2551 บริษัทฯ ยังคงเน้นเรื่องคุณภาพรถและบริการมากกว่าเรื่องราคา ด้วยจำนวนรถเช่ามากถึง 4,900 คัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 2,450 คัน ที่เหลือเป็นรถปิกอัพและรถตู้รวมกัน พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าด้วยบริการมาตรฐานระดับสากลจากศูนย์บริการของพันธมิตร คือ เชลล์ ออโต้เซิร์ฟ และบี-ควิก กว่า 500 แห่งทั่วประเทศ และทีมงานหน่วยซ่อมบำรุงเคลื่อนที่ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งรถสำรองเพื่อทดแทนระหว่างซ่อมมากกว่า 200 คัน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในตลาดรถเช่าปัจจุบัน นอกจากนี้ เพื่อให้แน่ใจว่ามีปริมาณรถเช่าเพียงพอต่อความต้องการของตลาด บริษัทฯ มีแผนจะลงทุนซื้อรถเพิ่มอีก 1,500 คัน รวมมูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท เพิ่มเติมจากปี 2550 ที่ลงทุนไปแล้ว 1,000 ล้านบาท นอกจากกลุ่มเป้าหมายเดิมแล้ว ปีนี้จะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่นให้มากขึ้น”
“บริษัทฯ ตั้งเป้าสร้างอัตราเติบโตให้สูงกว่าตลาดรวม แต่จะไม่เน้นส่วนแบ่งตลาดมากเท่ากับการสร้างเชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ และความพึงพอใจของลูกค้า สำหรับปี 2551 ตั้งเป้าเติบโตที่ร้อยละ 10-15 โดยอาศัยความได้เปรียบในหลายด้าน อาทิ ความชำนาญในธุรกิจรถเช่ามากว่า 25 ปี มีรถทดแทนมากที่สุดในประเทศไทย และเป็นธุรกิจรถเช่าครบวงจรที่เริ่มตั้งแต่การซื้อรถให้ลูกค้าเช่า ซึ่งมีดีลเลอร์รถยนต์รองรับทั้งโตโยต้าและนิสสัน ทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจและมีอำนาจต่อรองเหนือคู่แข่ง และเมื่อรถหมดสัญญาและถูกส่งกลับคืนบริษัทฯ ก็มีศูนย์จำหน่ายรถยนต์มือสอง คือ โตโยต้า กรุงไทย ยูสคาร์ รองรับ ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนรถได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ลูกค้าจึงมั่นใจได้ทั้งเรื่องคุณภาพ ทางเลือกที่หลากหลาย ความสะดวก และความปลอดภัยของรถที่จะนำไปใช้” นายพิเทพ กล่าวสรุป
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท เเบรนด์คอม คอนซัลเเทนส์ จำกัด
ไพลิน บูรณะมิตรานนท์ / เสาวรินทร์ ทองทัศน์
โทร 02-645-0171 (32 คู่สาย) แฟกซ์ 02-645-0170

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ