กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ตบเท้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ร้องรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาราคาเหล็กแพง ก่อนส่งผลกระทบบานปลายต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ ระบุวงการอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง เสนอทบทวนโครงการต่างๆ ใหม่ โดยให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงแทนระบบเดิม และเรียกร้องรัฐเร่งแก้ปัญหาค่า K ที่ไม่เป็นธรรม พร้อมขอปรับแก้ระเบียบการประมูลงานแบบ e-Auction ให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใสมากที่สุด
นายพลพัฒ กรรณสูต นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า จากปัญหาราคาเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก โดยเฉพาะราคาเหล็กเส้นซึ่งขณะนี้ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมตันละ 18,000 — 19,000 บาท เป็นตันละ 30,000 — 31,000 บาท สูงขึ้นถึง 65 % ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งมีความต้องการใช้เหล็กทั้งระบบสูงถึง 4.5 ล้านตันต่อปี โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2551 ปรากฏว่าในแวดวงอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยได้รับความเสียหายกว่า 4,500 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่ลงนามในสัญญากับทางราชการหรือชนะการประมูล ได้เสนอราคาต้นทุนเหล็กสำหรับใช้ในโครงการไปก่อนแล้ว และขณะนี้เหล็กได้ปรับราคาสูงขึ้นมากทำให้ผู้ประกอบการในโครงการภาครัฐและเอกชนประสบปัญหาขาดทุน สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของผู้ประกอบการในแวดวงอุตสาหกรรมก่อสร้าง จึงได้รวมตัวกันเดินทางไปยื่นหนังสือแก่นายกรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยก่อนที่จะเกิดผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ในวงกว้างต่อไป โดยสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือดังนี้
1. ให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคาเหล็กเส้นให้อยู่ในระดับราคาควบคุมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และปรับราคากลางของเหล็กให้เป็นไปตามราคาควบคุมเพราะปัจจุบันราคาเหล็กที่ซื้อขายในท้องตลาดสูงกว่าราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดตันละ 2,000 — 3,000 บาท
2. ให้มีการเปิดเสรีนำเข้าเหล็กเส้นจากต่างประเทศได้ และมีการตรวจมาตรฐานมอก. เหล็กนั้นๆ ให้มีคุณภาพเพื่อให้สามารถขายได้ในประเทศ เพื่อลดปัญหาขาดแคลนเหล็กเส้นบางประเภท โดยเฉพาะเหล็กเส้นกลมซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตในประเทศผลิตจำนวนลดลง
3. แก้ไขวิธีการคำนวณสัญญาแบบปรับราคาชดเชยค่าก่อสร้าง (ค่า K) งานราชการทุกสัญญา โดยงดการหักดัวย 4% เมื่อต้องเพิ่มค่างานหรือบวกเพิ่ม 4% เมื่อต้องเรียกค่างานคืน จนกว่าทางราชการจะปรับปรุงสูตรการปรับราคาชดเชยค่าก่อสร้างแล้วเสร็จ
4. จัดหาเหล็กให้เพียงพอกับความต้องการ ในราคาที่ได้เสนอในการประมูลเพื่อให้ผู้รับเหมาสามารถดำเนินงานที่ประมูลได้ต่อไปจนแล้วเสร็จโดยไม่ได้รับความเสียหาย ในการประมูลงานแต่ละครั้งผู้รับเหมาได้เสนอราคาต้นทุนวัสดุก่อสร้างไปก่อนที่จะคัดเลือกบริษัทให้มารับผิดชอบซึ่งระยะเวลาดังกล่าวบางกรณีอาจใช้เวลานานถึง 3-4 เดือน ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็กเส้นปรับราคาขึ้น และขณะนี้ได้ปรับราคาสูงขึ้นมากทำให้ผู้รับเหมาที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินงานในโครงการของทั้งภาครัฐและเอกชนประสบปัญหาขาดทุนกันถ้วนหน้า
5. ให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนวิธีการประมูลงานของภาครัฐใหม่โดยแก้ไขระเบียบการประมูลงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์และปรับราคากลางให้เป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้เพื่อลดปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงานหรือทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเพราะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น
นายพลพัฒ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้รับเหมาดังกล่าวข้างต้น สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือโดยด่วน เนื่องจากหากผู้รับเหมาจำนวนมากไม่สามารถรับภาระที่เกิดจากราคาเหล็กที่สูงขึ้นได้ อาจเกิดปัญหาตามมาหลายประการ อาทิ การทิ้งงาน การก่อสร้างล่าช้า ฯลฯ เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องเงินทุน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ได้
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขระเบียบราชพัสดุเกี่ยวกับการประมูลงานขนาดใหญ่หากภาครัฐเข้ามาดูแลปรับปรุงแก้ไขให้สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งในด้านของการเสนอราคากลางและเงื่อนไขกฏระเบียบการประมูลก็จะทำให้คุณภาพของงานและการทำงานของผู้รับเหมามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อนึ่งสมาคมฯ เล็งเห็นผลกระทบต่อประชาชนที่จะได้รับจากราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ผู้บริโภค ผู้ซื้อบ้านในโครงการอสังหาริมทรัพย์ตลอดจนผู้ต้องการสร้างบ้านหรือใช้ผู้ประกอบการก่อสร้างได้รับผลกระทบ จากราคาเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้น หากทางรัฐบาลไม่รีบออกมาตรการเพื่อให้เหล็กมีราคาเหมาะสม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อเจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
ศริญญา แสนมีมา / ภัทรภร ตันตรงภักดิ์
โทร. 0-2204-8218, 081-805-1498, 0-2204-8550, 086-668-1415