เชพผู้ป่วย เชพคุณหมอ โควิด-19 ว.สารพัดช่างฉะเชิงเทราร่วมพัฒนาอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ

ข่าวทั่วไป Monday March 30, 2020 16:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่าจากสถานการณ์ การแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 ที่ก่อนหน้านี้แพร่ระบาดไปทั่วโลก สำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา ได้ขอความร่วมมือมือจากบุคลากร และสถานศึกษาในสังกัด ที่มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะวิชาชีพด้านช่างอุตสาหกรรม คหกรรมศาสตร์ และมีความถนัดในการใช้อุปกรณ์ช่าง อุปกรณ์ตัดเย็บ พร้อมด้วยจิตอาสามาร่วมกันช่วยเหลือประชาชนในช่วงระยะเวลาการระบาดของ ไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 เช่นการผลิต และตัดเย็บหน้ากากอนามัยผ้าของสถานศึกษาที่มีการเรียนการสอนสาขาวิชางานผ้า และสิ่งทอทั่วประเทศกว่า 450,000 ชิ้น เพื่อแจกจ่ายสำหรับการป้องกัน ในช่วงที่ผ่านมาที่หน้ากากอนามัย ขาดแคลน และเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้ รวมไปถึงสถานศึกษาต่างๆ ได้คิดค้นและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยประชาชนในสภาวการณ์เช่นนี้ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่าขณะเดียวกันทีมแพทย์ และบุคลากร เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องทำงานอย่างหนัก และมีความเสี่ยงมาก โดยเมื่อต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมานายสุริยะ จิตรพิไลเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา ได้รับการประสาน ผ่านทางศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ และคณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในการให้ดำเนินการช่วยพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ถุงคลุมผู้ป่วยต้นแบบที่ทางทีมแพทย์ให้คำแนะนำมา เพื่อใช้สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากไม่มีการป้องกันที่รัดกุมก็อาจจะแพร่เชื้อได้ โดยทีมงานวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทราได้ร่วมกับทีมแพทย์ตรวจหาจุดอ่อนของถุงคลุมผู้ป่วยต้นแบบ และพบว่าวัสดุที่ใช้ทำถุงคลุมผู้ป่วยไม่ทนทาน ฉีกขาดง่าย อุปกรณ์ยึดติด (ตีนตุ๊กแก) เปิด-ปิดไม่สะดวก แรงดูดอากาศแรงเกินไป จนเกิดสุญญากาศ และไม่มีช่องให้บริการทางการแพทย์ เป็นต้น ทีมวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา จึงได้ออกแบบและพัฒนา เป็นชุดอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ (Negative pressure) ขึ้นมา ด้านนายสุริยะ จิตรพิไลเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา กล่าวว่าเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าววิทยาลัยได้มอบหมายให้ คณะทำงาน นายชำนาญ แสงทอง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเป็นหัวหน้าทีม โดยมี นายนรเศรษฐ์ ศิริไปล์ และ นางสาวจรวย วิหกเหิน ครูแผนกวิชาคอมพิวเตอร์ เป็นผู้ออกแบบขนาด และกระบวนการเย็บ ตลอดจนประสานงาน Supplier จัดหาวัสดุที่ใช้ในการตัดเย็บ นางสมหมาย ยินดีภพ ครูแผนกผ้าและเครื่องแต่งกาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดเย็บ เป็นผู้ประสานงานและควบคุมการตัดเย็บ นายปรารภ โกศล และ นายพิสิษฐ์ ใจอารีย์ ตลอดจนครูแผนกช่างยนต์ พัฒนาเครื่องดูดอากาศแบบแรงดันลบ และนายอนุสรณ์ แสงดาว ครูแผนกเทคนิคพื้นฐาน ออกแบบและประสานงานการเชื่อมเตียงเคลื่อนย้าย โดยได้รับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ ซึ่งได้แก่ ผ้าใบชนิด HDPE แถบกุ๊น ซิป จากทางกลุ่มจิตอาสา และถุงมือ จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งได้ทำการศึกษาและหาแนวทางแก้ไข พร้อมกับพัฒนารูปแบบใหม่จนได้เป็นชุดอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ (Negative pressure) เป็น Prototype ของวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา ซึ่งชุดดูดอากาศจะมีตัวกรอง 3 ชั้น ด้านบนติดด้วยหลอดไฟ UV กั้นด้วยกระจก ตัวกรองสามารถถอดเปลี่ยนได้ มีพัดลมระบายอากาศแบบมอเตอร์ขนาด ? แรง และนำกลับไปทดสอบกับทีมแพทย์แล้ว ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของวิทยาลัยในการมีส่วนร่วมพัฒนาอุปกรณ์ เพื่อช่วยนำพาประเทศไทยฝ่าวิกฤตไวรัส โควิด-19 ไปได้ ผู้อำนวยการวิทยาลัย กล่าวต่อไปว่า “ชุดอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นนี้ ใช้ได้กับผู้ป่วยโควิด -19 และผู้ป่วยติดเชื้ออื่น ๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค โดยชุดอุปกรณ์ที่ทางวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทราร่วมพัฒนา ขึ้นมานี้มีราคาประมาณชุดละ 5 หมื่นบาท ขณะที่หากเป็นการนำเข้าจะมีราคาสูงถึงกว่า 5 แสนบาท โดยขณะนี้ มีโรงพยาบาลหลายแห่งติดต่อขอให้วิทยาลัยช่วยผลิตชุดอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ Negative pressure นี้ เฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลวชิรพยาบาล สถานศึกษากำลังเร่งดำเนินการจัดทำให้ 20 ชุด อย่างไรก็ตามขณะนี้คณะทำงานของวิทยาลัยฯ กำลังเร่งพัฒนาชุดอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบแรงดันลบ Negative pressure ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงขึ้นพร้อมทั้งศึกษาแนวทางในการที่จะผลิตหมวกกันละอองฝอย เพื่อร่วมในการใช้งานด้วยต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ