'หนองเม็กโมเดล’ ต้นแบบผักอินทรีย์แห่งแรก จ.อำนาจเจริญ ยกระดับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์คุณภาพสูง

ข่าวทั่วไป Monday March 30, 2020 16:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า “กลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก” ถือเป็นต้นแบบหมู่บ้านผักอินทรีย์แห่งแรกของจังหวัดอำนาจเจริญ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 ภายใต้การนำของประธานกลุ่มคือ นางจำปา สุวะไกร ปัจจุบันมีสมาชิก 15 ราย โดยทางกลุ่มมีเป้าหมายในการปลูกผักอินทรีย์เพื่อให้เป็นแหล่งอาหาร สด สะอาด ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค รวมทั้งพัฒนาสินค้าผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก ให้เป็นสัญลักษณ์ “เมืองธรรมเกษตร” ตามนโยบายของจังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 จังหวัดอุบลราชธานี (สศท.11) ได้สำรวจข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทนจากการผลิต ผักอินทรีย์ ปี 2563 ของเกษตรกรกลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ พบว่า มีต้นทุนการผลิต 5,708 บาท/โรงเรือน/รอบการผลิต ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 45-50 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 200-270 กก./โรงเรือน/รอบการผลิต ราคาที่เกษตรกรขายได้ 50 บาท/กก. ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 6,792 บาท/โรงเรือน/รอบการผลิต ด้านการเพาะปลูก เกษตรกรจะปลูก ในโรงเรือนขนาด 30x6 เมตร มีจำนวน 100 โรงเรือน สามารถปลูกผักอินทรีย์ได้จำนวน 200-270 กก./โรงเรือน นอกจากนี้ ผักอินทรีย์ ยังเป็นพืชทางเลือกที่เกษตรกรนำมาปลูกทดแทนการผลิตข้าวนาปี และมันสำปะหลังทั่วไปในพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) รวมถึงพื้นที่ปลูกยางพาราที่ประสบปัญหาด้านราคา ปัจจุบัน สินค้าเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มฯ จำหน่ายในชื่อแบรนด์ “ไร่ภูตะวัน ออร์แกนิค ฟาร์ม” จังหวัดอำนาจเจริญ ผลผลิตร้อยละ 70 ส่งจำหน่ายให้กับคู่ค้าหลักคือ บริษัท S&B food supply จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่จัดส่งผักขายให้กับห้าง Tops supermarket ทั่วประเทศ ส่วนร้อยละ 30 ส่งจำหน่ายตลาดในท้องถิ่น อาทิ ตลาดสีเขียวอำนาจเจริญ ตลาดปลอดสารพิษ ตลาดบุญนิยม และจุดจำหน่ายพืชผักปลอดสารพิษ ปั้มน้ำมัน ปตท. อำนาจเจริญ เป็นต้น ซึ่งทางกลุ่มฯ สามารถส่งผลผลิตได้ 1.5-2 ตัน/5 วัน ทำให้มีรายได้หมุนเวียนกว่า 100,000 บาท/5 วัน นอกจากนี้ ผักอินทรีย์บ้านหนองเม็กยังได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล คือ Organic Thailand และ IFOAM เป็นโรงเรือนผักอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร ดังนั้น จึงเป็นเครื่องการันตีและสร้างความมั่นใจกับผู้ค้าได้ว่า ผักอินทรีย์ของกลุ่มฯ ได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูง ด้านนายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการ สศท.11 กล่าวเสริมว่า กลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก มีความต้องการขยายฐานการผลิตเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้ประสานงานด้านการตลาดของกลุ่มฯ (นายศุภชัย มิ่งขวัญ) ได้บอกเล่าว่า ระยะแรกทางกลุ่มฯ ประสบปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์มาตรฐานอินทรีย์คุณภาพ รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ ผลผลิตลดลงไม่สามารถส่งออกได้ตามมาตรฐาน จึงได้ดำเนินการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์มาตรฐานอินทรีย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของทางกลุ่มฯ จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครรินทร์ (นำโดย ดร.นราทิพย์ หมวกกรอง นักปรับปรุงพันธุ์พืช) ทำการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์อินทรีย์คุณภาพ ต้านทานโรคและสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเสนอโครงการขอทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ซึ่งได้รับทุนวิจัยจำนวน 1.6 ล้านบาท โดยพืชที่พัฒนาพันธุ์ ได้แก่ ผักตระกูลสลัด ข้าวโพด เมล่อน และมะเขือเทศ ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการ 3 ปี (2562-2564) และเมื่อสิ้นสุดโครงการ ทางกลุ่มฯ มุ่งหวังว่าจะเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์สินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพ ทั้งเมล็ดพันธุ์หลัก เมล็ดพันธุ์ลูกผสม และเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืชสายพันธุ์พื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังมีนโยบายด้านการส่งเสริมความรู้และพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร โดยเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจทำการเกษตรอินทรีย์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน รวมถึงเปิดรับนักศึกษา ฝึกประสบการณ์วิชาชีพจากมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศ เพื่อสร้างบุคลากรด้านการเกษตรที่มีคุณภาพและพัฒนาอาชีพเกษตรกรให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตผักอินทรีย์กลุ่มบ้านหนองเม็ก ทางกลุ่มฯ ยินดีให้เกษตรกรสามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้ หรือสามารถขอคำปรึกษาได้ที่นายศุภชัย มิ่งขวัญ กลุ่มผักอินทรีย์บ้านหนองเม็ก หมู่ 5 ตำบลคึมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ โทร. 090-932-7915 หรือ 095-6131411

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ