กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--ไทยธนาคาร
แนวโน้มตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้
สำนักวิจัยมองว่าดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ โดยมีแนวต้านอยู่ที่ 670 จุด ส่วนเงินบาทคาดว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 40.30 — 40.70 ระดับบาท/ดอลลาร์
สำนักวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ในรอบสัปดาห์นี้ ( 30 พ.ค. — 3 มิ.ย. 48 ) โดยสำนักวิจัยมองว่าในสัปดาห์นี้ดัชนีหุ้นไทยจะแกว่งตัวในกรอบแคบ ๆ โดยตลาดยังถูกกดดันจากการขายสุทธิอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาท รวมทั้งระดับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ขณะที่ตลาดยังไม่มีปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามากระตุ้น ส่วนมูลค่าการซื้อขายคาดว่าจะเบาบาง เนื่องจากนักลงทุนรอดูความชัดเจนของทิศทางตลาดหุ้นไทย โดยดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์นี้มีแนวรับอยู่ที่ 660 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 670 จุด กลยุทธ์การลงทุนคือการเลือกซื้อเก็งกำไรหุ้นเป็นรายตัว กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้ คือ กลุ่มก่อสร้าง เช่น ITD , CK กลุ่มหลักทรัพย์ และกลุ่มสื่อสาร เช่น ADVANC , SHIN , SATTEL ที่ราคาหุ้นได้ปรับตัวลงมามาก
สำหรับทางด้านค่าเงินบาท สำนักวิจัยมองว่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 40.30 — 40.70 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งขึ้น โดย GDP ไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 3.5% และการนำเข้าสินค้าและบริการน้อยกว่าที่คาดไว้ อัตราเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ประกอบกับมีแรงซื้อดอลลาร์ของกลุ่มบริษัทผลิตน้ำมันรายใหญ่เพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งต่างจากเศรษฐกิจไทยมีการขาดดุลการค้าติดต่อกัน 4 เดือน โดยกรมศุลกากรได้ระบุว่าไทยขาดดุลการค้าเดือน เม.ย. ถึง 1.55 พันล้านดอลลาร์อาจส่งผลกระทบต่อตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดได้ อย่างไรก็ตามตลาดยังรอดูทิศทางดอกเบี้ยไทยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ซึ่ง ธปท.ระบุว่าดอกเบี้ยขาขึ้นเหมาะสมต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย
สำหรับการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2548 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประกาศในวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 นั้น สำนักวิจัย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือนเมษายน ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากยอดขาดดุลการค้าในเดือนเมษายนจำนวน 1,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 4,775 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่สินเชื่อยังคงขยายตัวในอัตราที่มากกว่าเงินฝาก สำหรับอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในเดือนเมษายน ตามแรงกดดันของราคาน้ำมันที่ผันผวนและทรงตัวอยู่ในระดับสูง และการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชน
สำหรับภาวะการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์นี้ (30 พ.ค. — 3 มิ.ย. 48) มีแนวโน้มคึกคักต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน คาดว่า ทิศทางการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกเติบโตในอัตรา 3.5% จากตัวเลขประมาณการ 3.1% รวมไปถึงการคาดการณ์เกี่ยวกับตัวเลขการจ้างงานประจำเดือนพ.ค.ที่จะประกาศออกมาในวันศุกร์ที่ 3 มิ.ย. ถ้าตัวเลขออกมาไม่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ จะเป็นสัญญาณยืนยันว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.25% ในวันที่ 29-30 มิ.ย.และเป็นปัจจัยหลักให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้น--จบ--