กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--ไอแอมพีอาร์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้พลังของโซเชียลมีเดีย (Social Media) ได้สร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคมไทยอย่างมากมาย อีกทั้งยังทำให้เกิด “สื่อกระแสรอง” ที่สามารถสร้างการรับรู้ในประเด็นที่แตกต่างหลากหลาย และสะท้อนความต้องการของประชาชนกลุ่มต่าง ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อข่าว “ความรุนแรง” ถูกให้ความสนใจเป็นหลัก ทำให้เรื่องราวดีๆ ในพื้นที่ น้อยครั้งที่จะถูกนำมาสื่อสาร ทำให้เยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ผ่านการอบรมการเป็น “นักข่าวเยาวชน” หรือ Gen Peace Reporter จึงได้มีแนวคิดที่จะเปิดพื้นที่ในโลกออนไลน์ให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ของจังหวัดปัตตานีได้มีโอกาสนำเสนอเรื่องราวดีๆ ในชุมชนออกสู่โลกภายนอก ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “ใครๆ ก็เป็นสื่อได้”
“โครงการผลิตคลิปข่าวสั้นด้วยโทรศัพท์มือถือ (MoJo) เพื่อสื่อสารเรื่องราวชุมชน” จึงเกิดขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อร่วมกันสื่อสารเรื่องราวดีๆ จากมุมมองและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ให้เกิดเป็นพลังการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างสันติสุขในพื้นที่
น.ส.วิลดาน มะมิง หรือ “วิล” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล่าให้ฟังว่า ตัวเธอเองได้มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้และฝึกเป็นนักข่าวเยาวชนจากโครงการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (Deep South Journalism School: DSJ) แล้วก็อยากที่ขยายผลโดยนำเอาความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ลงไปถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชนในชุมชน เพื่อให้น้องๆ สามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ในชุมชนผ่านโทรศัพท์ถือถือ โดยน้องๆ จะได้เรียนรู้เรื่องของเทคนิคต่างๆ ในการตัดต่อคลิป เพื่อนำเสนอสิ่งที่สร้างสรรค์ หรือวัฒนธรรมดีๆ ในชุมชนให้ออกไปเผยแพร่สู่โลกภายนอก
“นอกเหนือจากความรู้และทักษะต่างๆ ในการผลิตสื่อแล้ว สิ่งที่น้องๆ จะได้รับจากกิจกรรมนี้ก็คือความภาคภูมิใจในชุมชนของตนเองว่ามีสิ่งดีๆ มากมาย แล้วก็เป็นเรื่องราวดีๆ ที่เราอยากจะเผยแพร่ให้กับคนภายนอกได้เห็น ซึ่งสามารถติดตามผลงานและเรื่องราวดีๆ ของเด็กและเยาวชนผ่านจากFacebook และช่องทาง Youtube ที่ชื่อว่า Budaxบูเดาะ(เด็ก)จะเล่า” วิลกล่าว
น.ส.แวอัสมีร์ แวมะนอ วิทยากรผู้สอนการสร้างสรรค์สื่อ MoJo เล่าว่าตัวเธอนั้นก็เป็นหนึ่งในนักข่าวเยาวชน หรือ Gen Peace Reporter แต่เมื่อโครงการจบไป รวมถึงมีปัญหาในการส่งข่าวไปเผยแพร่ในสื่อกระแสหลักต่างๆ ก็เลยมาคิดหาช่องทางการสื่อสารของตนเองจึงเปิดเป็นเพจ facebook โดยใช้ชื่อว่า “Budaxบูเดาะ(เด็ก)จะเล่า” เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีพื้นที่สื่อสารเป็นของตนเอง ประกอบกับเด็กรุ่นใหม่มักจะมีโทรศัพท์มือถือของตัวเองอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าน่าจะนำเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นประโยชน์ในการสื่อสารเองราวดีๆ ในพื้นที่ออกไป
“หลักสูตรที่มาสอนน้องๆ ในวันนี้ชื่อว่า Mojo หรือ Mobile Journalist ซึ่งก็คือการสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือ โดยจะสอนตั้งแต่การคิดประเด็น คิดบท คิดหัวข้อเรื่องที่จะสื่อสาร จากนั้นก็จะสอนถึงแนวทางของการเล่าเรื่องยังไงให้ได้รับความสนใจ สอนวิธีการเรียบเรียงเนื้อหาให้เป็นเรื่องราว สอนเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ การตั้งค่าต่างๆ ของกล้องในโทรศัพท์มือถือ และการใช้โปรแกรมตัดต่อ kinemaster และ I-movie เพื่อที่จะผลิตผลงานเป็นของตัวเอง” แวอัสมีร์ระบุ
ด.ญ.แวซาฟีนะห์ กะลูแป หรือ “แว” อายุ 14 ปี และ ด.ญ.แวมะห์ซง แวมะนอ หรือ “แวซง” อายุ 15 ปี เยาวชนจากบ้านตูตง ตำบลบาราเฮาะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เล่าถึงสิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมว่าได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการทำคลิปวีดีโอ เทคนิคในการเล่าเรื่อง รวมไปถึงยังรู้สึกสนุกที่จะได้ออกไปถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอยังสถานที่ต่างๆ ของชุมชน โดยทั้งคู่มีผลงานออกมา 2 เรื่องคือ “รถไถนา” และ “บ่อน้ำในทุ่งนา”
“บ่อน้ำในทุ่งนาหนูต้องการที่จะเล่าเรื่องราวของบ่อน้ำโบราณที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนาของหมู่บ้าน ที่ใช้กันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าเพื่อนำนำไปใช้ในการเพาะปลูกพืชผักต่างๆ คนในชุมชน ส่วนเรื่องรถไถนาเราก็อยากที่จะนำเสนอถึงเครื่องไม้เครื่องมือในการทำการเกษตรของคนในชุมชน” น้องแวเล่า
“กิจกรรมนี้สนุกมาก ได้ออกไปถ่ายคลิปในชุมชน และได้เรียนรู้วิธีการตัดคลิปวีดีโอกับเพื่อนๆ ตอนนี้มีความคิดว่าอยากจะทำคลิปวีดีโอที่เล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ แล้วก็มีความฝันว่าอยากจะเป็นYoutubeper” น้องแวซงกล่าว ไม่ต่างไปจาก “เดะนี” หรือ ด.ญ.ฮุสนีย์ อับดุลรอมัน อายุ 15 ปี ที่ชื่นชอบการรับชมเรื่องราวต่างจาก Youtube อยู่แล้ว เมื่อมีกิจกรรมนี้เข้ามาก็ยิ่งรู้สึกดีใจที่จะได้เรียนรู้เรื่องของเทคนิคการเขียนบท การทำคลิปและตัดต่อวีดีโอเพราะตัวเธอนั้นมีความสนใจอยากจะมีช่องของตัวเองบน Youtube อยู่แล้ว
“ตอนนี้ทำคลิปมาแล้ว 2 ชิ้นเป็นเรื่องของช่างตัดผมและประเพณีงานเมาลิดของชุมชน แล้วก็อยากจะที่พัฒนางานของเราให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เล่าเรื่องได้ดีขึ้น ตอนนี้กำลังจะทำคลิปวีดีโอเพื่อที่จะสื่อสารในเรื่องของเส้นทางการค้าแพะของชุมชนให้คนอื่นๆ ได้รู้” น้องเดะนีเล่า
“ท้ายที่สุดแล้วโครงการนี้เราอยากจะเห็นพัฒนาการของน้องๆ ที่สามารถสื่อสารเรื่องราวของชุมชนตัวเองได้ แล้วสิ่งที่สื่อสารออกไปนั้นก็จะเป็นการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ที่เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นการสื่อสารที่ไม่สร้างให้เกิดความเกลียดชัง และสร้างให้เกิดความเข้าใจในระหว่างคนในชุมชนและภายนอกชุมชน เพื่อที่พวกเราจะได้ร่วมกันสื่อสารเรื่องราวดีๆ ในพื้นที่ให้ออกไปสู้หรือสร้างสมดุลกับข่าวที่ไม่ดีหรือข่าวความรุนแรงบ้าง” วิทยากรผู้สอนการสร้างสรรค์สื่อ MoJo สรุป
เรื่องราวของ “Budaxบูเดาะ(เด็ก)จะเล่า” ที่ถูกถ่ายทอดในเพจ Facebook และ Youtube จึงเป็นอีกช่องทางของการสื่อสารทางเลือกในโลกออนไลน์ ที่เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่มีอยู่ในมือ มาประสานกับพลังความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสื่อสารเรื่องราวดีๆ ในชุมชนของพวกเขาออกสู่สาธารณะ โดยหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการร่วมกันสร้างสันติสุขให้กับคืนมาสู่พื้นที่บ้านเกิดของตนเอง