กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--ไอแอมพีอาร์
บ้านสะนำ หมู่ 2 ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นชุมชนไทยเชื้อสายลาวครั่ง ที่ยังคงสืบทอดรากเหง้าทางวัฒนธรรมในอดีตจากรุ่นสู่รุ่น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ชุมชนแห่งนี้ยังคงผสมผสานและรักษาวิถีดั้งเดิมซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของท้องถิ่นไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
โครงการ “เล่าบ้าน ผ่านวิถี” จึงเกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เรียนรู้วิถีชีวิตท้องถิ่น สำรวจชุมชน ทำแผนที่เดินดิน ค้นหาภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่นนำออกมาเผยแพร่ และเมื่อพบว่ากลุ่มวิสาหกิจในหมู่บ้านเริ่มผลิตจานชามจากกาบหมากที่มีอยู่ในหมู่บ้าน เยาวชนกลุ่มนี้จึงเข้ามามีส่วนร่วมในการค้นหาใบไม้ต่างๆ ช่วยกลุ่มวิสาหกิจผลิตเป็นจานชามที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เด็กหญิงนภัสนันท์ ศรีเพ็ญจันทร์ แกนนำเยาวชนบ้านสะนำ เล่าว่าในกลุ่มมีแกนนำ 5 คน และมีเพื่อนๆ ในกลุ่มอีก 20 คน ก่อนหน้านั้นร่วมทำกิจกรรมเรียนรู้วิถีชีวิตลาว(ครั่ง)โบราณ และเห็นว่ากลุ่มผู้ใหญ่เริ่มผลิตจานกาบหมาก กลุ่มเยาวชนสนใจอยากรู้ว่านอกจากกาบหมากแล้วยังมีใบไม้อย่างอื่นอะไรบ้างที่สามารถนำมาทำจาน-ชามใส่อาหารได้ จึงได้ปรึกษากันและหาความรู้เพิ่มเติม และพบว่าต้นไม้ที่อยู่ในหมู่บ้าน เช่น ต้นสัก เสือเลีย มะลิป่า ใบของต้นไม้พวกนี้สามารถใช้ทำเป็นจานได้
“หมู่บ้านของเราในอดีตได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านหมากล้านต้น มีการปลูกต้นหมากกันมาก ชาวบ้านมีรายได้จากการขายหมาก แต่ปัจจุบันคนรุ่นหลังไม่ได้กินหมาก เหลือแต่ผู้แก่ผู้เฒ่าซึ่งมีไม่มาก ต้นหมากถูกปล่อยทิ้งไม่ได้รับการดูแล บางบ้านก็ตัดทิ้งเพื่อเอาที่ไปทำไร่ พอมีการทำจานจากกาบหมากก็สร้างมูลค่าเพิ่มให้ต้นหมาก ใครที่มีอยู่ก็จะรู้ว่าต้องอนุรักษ์และปลูกเพิ่มด้วย เพราะกาบหมากที่มีอยู่หากใช้ทุกวันก็จะหมดลง พวกเราก็มาช่วยกันคิดว่าจะต้องหาใบไม้อย่างอื่นที่ไม่เป็นพิษมาทำเป็นจานชาม จึงลงมือศึกษาและสำรวจ จนพบว่ามีใบไม้ 3-4 อย่างที่นำมาทำได้” นภัสนันท์กล่าว
เยาวชนแกนนำโครงการเห็นว่าการที่เธอและเพื่อนๆ ได้ทำกิจกรรมครั้งนี้ทำให้ได้ซึมซับธรรมชาติ ได้ใกล้ชิดพูดคุยกับคนในชุมชน เห็นความเอื้ออารีที่ผู้ใหญ่มอบให้แก่เด็ก เป็นโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ต่างๆ จากผู้รู้ที่ถ่ายทอดมาให้กับเยาวชนคนรุ่นหลังในเรื่องต่างๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน
“อย่างน้อยเด็กๆ ก็ได้ห่างจากโทรศัพท์ ได้มีเวลาคุยกับผู้ใหญ่ ได้ลงสำรวจชุมชนกับผู้ใหญ่ สำรวจต้นไม้ รู้ว่าชุมชนของเรามีเรื่องราวดีๆ จากเดิมที่ไม่เคยรู้เลย หมู่บ้านของเรายังมีอะไรดีๆ ที่ต้องค้นหาอีก อย่างที่มองว่าจะทำต่อไปก็คือการแสดงทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งหมู่บ้านของเรายังมีการแสดงที่เรียกว่ารำนางด้งอีกด้วยคงต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก” นภัสนันท์ ย้ำให้เห็นถึงความตั้งใจ
ทางด้าน เด็กชายธรเทพณ์ พยอมหอม เยาวชนผู้ร่วมกิจกรรม กล่าวว่าโดยส่วนตัวได้ความได้ความรู้ในเรื่องต้นไม้ สนุกที่ได้เรียนรู้กับเพื่อนๆ มั่นใจว่ามีความรู้ด้านต้นไม้ไม่น้อยกว่าเพื่อนคนอื่น ขณะเดียวกันก็ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีส่วนร่วมในการช่วยงานผู้ใหญ่ในชุมชน และยังมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ อีกด้วย
“เรื่องต้นไม้ตอนนี้ผมมีความรู้แล้ว และในห้องเรียนวันเสาร์ อาทิตย์ ก็จะมาช่วย ปั๊มจาน ทากาว ตัดแต่งขอบจาน ชาม หาใบไม้ พวกเราหมุนเวียนกันมาช่วยงานผู้ใหญ่ตลอด” ธรเทพณ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน นางเกศชนก พยอมหอม กรรมการวิสาหกิจชุมชนบ้านสะนำ เล่าว่าทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเคยจัดกิจกรรมที่มีการเลี้ยงอาหารแต่ไม่ต้องการใช้โฟม จึงเสาะหาซื้อจานกาบหมากจากที่อื่นมาใช้ ในขณะที่ในหมู่บ้านมีหลายครอบครัวที่ปลูกหมาก แต่ปล่อยให้กาบหมากร่วงหล่นโดยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ สมาชิกจึงร่วมกันคิดที่จะผลิตจานชามกาบหมากขึ้น โดยติดต่อซื้อเครื่องอัดกาบหมากจากผู้ผลิตมาลงมือทำ
ต่อมาเมื่อเริ่มผลิตออกจำหน่ายก็ได้รับความสนใจอย่างมาก ขณะเดียวกันจำนวนกาบหมากที่นำมาเป็นวัสดุเริ่มลดลง และคาดว่าในอนาคตกาบหมากจะหายากขึ้น ประกอบกับมีกลุ่มเยาวชนที่ทำกิจกรรมในหมู่บ้านอยู่แล้ว จึงตั้งโจทย์ให้เด็กช่วยกันค้นหาสำรวจต้นไม้ต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ว่ามีใบไม้ชนิดไหนบ้างที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นจานชามได้บ้าง
“เราให้เด็กๆไปหาใบไม้ที่อยู่ในป่าบ้านเรา ศึกษาไปด้วยว่าต้นอะไร ใบอะไรเอามาใช้ได้บ้าง เอามาทดลองทำกัน เด็กก็สนุกไป แล้วก็มีค่าขนมให้เด็กที่นำใบไม้มาเป็นวัตถุดิบให้กับกลุ่มเรา” กรรมการวิสาหกิจชุมชนบ้านสะนำ บอกถึงที่มา
นอกจากเด็กๆ จะมีหน้าที่เสาะหาใบไม้มาให้แล้ว เด็กที่โตขึ้นอีกหน่อยจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ให้รู้จักใช้เครื่องมือในการผลิตจานชาม สามารถทำงานเทียบเท่าผู้ใหญ่ ร่วมกันผลิตจานชามจากใบไม้ได้อย่างมีคุณภาพ ขณะเดียวกันก็สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในชุมชนไปพร้อมๆ กันด้วย
“เด็กที่โตหน่อยก็จะทำได้หมด เราก็จะมีค่าขนมให้ด้วย นอกจากเรียนแล้วเขาจะรู้หน้าที่ว่าต้องทำอะไรบ้าง พฤติกรรมของเด็กๆ ก็ดีขึ้น ไม่มีใครนอกลู่นอกทาง เด็กที่มาร่วมกับเราจะสนใจในท้องถิ่นที่เขาอยู่ ผู้ใหญ่ก็จะคอยแนะนำให้เด็กได้รู้ว่าสิ่งไหนมีประโยชน์ อะไรที่เป็นความรู้ก็จะบอกต่อ ถ้าเราไม่บอกมันก็จะตายไปกับรุ่นเรา” เกศชนก กล่าวย้ำ
ผลิตภัณฑ์จานชามจากกาบหมากของชาวบ้านสะนำ ไม่เพียงแต่เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากแต่เบื้องหลังยังเป็นความร่วมมือระหว่างคนสองวัย เป็นจาน-ชามที่สร้างมิตรภาพเพิ่มความสัมพันธ์ในชุมชน พร้อมกับปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย.