กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--มหาวิทยาลัยมหิดล
วันผู้สูงอายุ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันเดียวกับวันมหาสงกรานต์ แต่ในปี 2563 มีเหตุต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19
ปัจจุบันพบว่าโลกของผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลงไปตามโลกยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมอยู่ตลอดเวลา โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่เข้าสู่โลกออนไลน์เพื่อเติมเต็มชีวิตที่ขาดหายไป
ผู้สูงอายุในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียโดยรู้ไม่เท่าทัน โดยสื่อที่ผู้สูงอายุใช้งานมากที่สุด ได้แก่ Line และ Facebook ส่วนใหญ่พบว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่แชร์ข่าวปลอม (Fake News) มากที่สุด เนื่องจากในบางรายสูญเสียความสามารถในการวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณตามวัยที่มากขึ้น จึงตกเป็นเหยื่อข่าวลวงได้โดยง่าย
ซึ่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินได้กำหนดห้ามการนำเสนอ Fake News เกี่ยวกับ “สถานการณ์ Covid-19" ที่เป็นเท็จ หรือบิดเบือน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
รศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัยหลักของโครงการ "สูงวัยไม่เสพสื่ออย่างสุ่มเสี่ยง ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะคาถา "หยุด คิด ถาม ทำ" มาใช้เป็นเครื่องมือในการรู้เท่าทันสื่อสำหรับผู้สูงวัย ดังนี้
"หยุด" คือ การยับยั้งชั่งใจอย่าด่วนเชื่อในข้อมูลที่ได้รับมา"คิด" คือ การคิดถึงความจำเป็น ข้อดี ข้อเสีย ตลอดจนผลกระทบที่ตามมา"ถาม" คือ การหาข้อมูลเพิ่มเติมจากการถามเพื่อน ผู้รู้ หรือจากสื่ออื่นๆ อย่าเชื่อข้อมูลมาจากสื่อเพียงแหล่งเดียว"ทำ" คือ เมื่อคิดทบทวนและถามหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว จึงตัดสินใจว่าจะแชร์ต่อหรือไม่
นอกจากนี้ รศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ยังได้มีส่วนในการจัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้ประกอบหลักสูตรผู้สูงอายุรู้เท่าทันสื่อ เพื่อใช้ในโรงเรียนผู้สูงอายุของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 43 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมในการเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพอีกด้วย "จริงๆ คาถา "หยุด คิด ถาม ทำ" สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในยามที่เราได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤต Covid-19 คือ “หยุด” ก่อนจะซื้อ แล้ว “คิด” ว่าดีหรือไม่ จากนั้นจึง “ถาม” เพื่อหาข้อมูล แล้วค่อยตัดสินใจ “ทำ” ว่าจะซื้อสิ่งนั้นหรือไม่ โดยเราหวังให้ผู้สูงอายุที่ผ่านโครงการฯ ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปสื่อสารต่อคนในครอบครัว และชุมชน เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง หรือตกเป็นเหยื่อของข้อมูลปลอมต่อไป" รศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ กล่าวในทิ้งท้าย