กสอ. แปลง 7 บริษัทสิ่งทอ ผลิต “หน้ากากผ้า” สร้างรายได้สู้โควิด-19 ชูโมเดล “มณีอินเนอร์แวร์” เปิดนวัตกรรมหน้ากากผ้าป้องกันสารคัดหลั่ง รักษ์โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 7, 2020 11:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ดัน 7 บริษัทสิ่งทอ ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสินค้า มาผลิต “หน้ากากผ้า” รับความต้องการของประชาชน หนุนเอสเอ็มอีสร้างรายได้ขับเคลื่อนธุรกิจแบบเร่งด่วนสู้โควิด-19 ภายใต้ โครงการ “สร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” ได้แก่ 1. บริษัท ยงสง่า จำกัด 2. บริษัท มณีอินเนอร์แวร์ จำกัด 3. บริษัท ยูเนี่ยน ไทย กรุ๊ป จำกัด 4. บริษัท เค็นเน็ต เท็กไทล์ จำกัด 5. บริษัท เวิลด์นิตติ้ง แอพพาเรล จำกัด 6. บริษัท ไฮย์คอว์ลิตี้ การ์เมนท์ จำกัด และ 7. บริษัท แอพพาเรล ครีเอชั่น จำกัด พร้อมชูโมเดล “มณีอินเนอร์แวร์” ประเดิมผลิต “หน้ากากผ้าสะท้อนน้ำ” นวัตกรรมใหม่ ป้องกันสารคัดหลั่งและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขานรับวิกฤตหน้ากากอนามัยขาดตลาด นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยถึง มาตรการผลักดัน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤต โควิด-19 (COVID-19) ในระยะเร่งด่วนว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งหาแนวทางการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ ดังนั้น ทาง กสอ. มีแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มศักยภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ให้สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ “สร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” ผ่านการให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น โดย กสอ. ได้ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมแนะสิ่งทอ 7 บริษัท ซึ่งครอบคลุม ผลิตภัณฑ์ชุดกีฬา เสื้อผ้าแฟชั่น ฯลฯ ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตสินค้าเดิมหันมาผลิตหน้ากากผ้า เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนการสร้างรายได้ เพื่อให้ขับเคลื่อนธุรกิจแบบเร่งด่วน โดยบริษัทสิ่งทอที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว มีดังนี้ 1. บริษัท ยงสง่า จำกัด 2. บริษัท มณีอินเนอร์แวร์ จำกัด 3. บริษัท ยูเนี่ยนไทย กรุ๊ป จำกัด 4. บริษัท เค็นเน็ต เท็กไทล์ จำกัด 5. บริษัท เวิลด์นิตติ้ง แอพพาเรล จำกัด 6. บริษัท ไฮย์คอว์ลิตี้ การ์เมนท์ จำกัด และ 7. บริษัท แอพพาเรล ครีเอชั่น จำกัด โดยทั้งหมดได้เริ่มผลิตหน้ากากผ้าจำหน่ายสู่ตลาด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันภาพรวมของผู้ประกอบการสิ่งทอไทย มีกำลังการผลิตหน้ากากผ้าได้มากกว่า 187,000 ชิ้นต่อวัน (ข้อมูลจาก กระทรวงอุตสาหกรรม) นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัท มณีอินเนอร์แวร์ จำกัด โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปกว่า 19 ปี ถือเป็นโมเดลต้นแบบของผู้ประกอบการในการปรับกระบวนการผลิต โดยเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมหน้ากากผ้าสะท้อนน้ำ” ป้องกันละอองฝอยที่เกิดจากการ ไอ จาม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะปราศจากสารประกอบฟูลออโรคาร์บอนที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทดังกล่าว ทาง กสอ. ได้ให้คำปรึกษาและส่งเสริม ด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ นับตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากชุดชั้นในสตรีสู่ชุดชั้นในระดับพรีเมียม ที่มีกำลังการผลิต 30,000 ตัวต่อเดือน ตามด้วยการพัฒนาสู่ชุดกีฬา และล่าสุดกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ “หน้ากากผ้า” ที่สามารถผลิตรองรับความต้องการได้สูงถึง 40,000 ชิ้นต่อเดือน ซึ่งบริษัทฯ มีแผนผลักดันให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์หลัก เพื่อวางจำหน่ายและสร้างรายได้ให้กับบริษัทในอนาคต ด้าน นางมณี เจนจรรยา กรรมการ บริษัท มณีอินเนอร์แวร์ จำกัด กล่าวว่าบริษัท ได้เข้าร่วมกิจกรรมการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หน้ากากผ้ากับ กสอ. และนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีศักยภาพ ซึ่งบริษัทผลิต หน้ากากผ้าหลากหลายชนิด ทั้งหน้ากากผ้าที่ผลิตจากผ้าคอตตอน สำหรับจำหน่ายประชาชนทั่วไป และผลิตหน้ากากผ้าสะท้อนน้ำ ป้องกันสารคัดหลั่งจากการไอ จาม เสมหะ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีดีไซน์ที่สวยงามสอดคล้องกับประโยชน์การใช้งาน ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมฯ ให้การพัฒนาผู้ประกอบการสามารถขยายฐานการตลาดและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ