กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
ฟอร์ด ประเทศไทย เผยว่า อาสาสมัครพนักงานฟอร์ดจากโรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด (เอฟทีเอ็ม) และออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (เอเอที) ในจังหวัดระยอง ได้ใช้โรงงานเอฟทีเอ็มเป็นฐานการปฏิบัติงานเพื่อร่วมกันผลิตหน้ากากป้องกันใบหน้า (Face shields) ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างเร่งด่วนของบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย โดยการผลิตเริ่มต้นขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเริ่มส่งมอบให้แก่กระทรวงสาธารณสุขเป็นครั้งแรกในวันนี้
ในเบื้องต้น ฟอร์ดสามารถผลิตหน้ากากป้องกันใบหน้าได้จำนวน 2,000 ชิ้นต่อวัน และตั้งเป้าผลิตหน้ากากอีกอย่างน้อย 10,000 ชิ้น เพื่อส่งมอบให้กับหน่วยงานทางการแพทย์ผ่านช่องทางของกระทรวงสาธารณสุขภายในสัปดาห์นี้ และจะมอบหน้ากากที่จะผลิตได้เพิ่มเติมให้แก่ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และกระจายไปยังหน่วยงานระดับจังหวัดที่มีความต้องการใช้ผ่านทางผู้แทนจำหน่ายฟอร์ดทั่วประเทศไทย
“ในขณะที่เชื้อไวรัส โควิด- 19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว บุคลากรทางการแพทย์กำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ พนักงานฟอร์ดจึงอาสาเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งออกแบบ และลงมือผลิตหน้ากากป้องกันใบหน้าเพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรที่เป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรค” นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าว
“สำหรับฟอร์ด เราตระหนักถึงความจำเป็นในการเป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือยามที่สังคมต้องการ เรามีทรัพยากร มีความเชี่ยวชาญ และที่สำคัญ มีพนักงานที่มีจิตอาสา พร้อมร่วมมือร่วมใจกันให้ความช่วยเหลือผลิตอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนในครั้งนี้” นายวิชิต กล่าว
โครงการผลิตหน้ากากป้องกันใบหน้าในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของฟอร์ดที่จะสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น รวมถึงประเทศต่างๆ ที่ฟอร์ดดำเนินธุรกิจ เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19
ในประเทศสหรัฐอเมริกา ฟอร์ดได้ผลิตและส่งมอบหน้ากากป้องกันใบหน้าแล้วกว่า 1 ล้านชิ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และปัจจุบัน ฟอร์ดสามารถผลิตหน้ากากป้องกันใบหน้าได้ 1 ชิ้นในทุกๆ 10 วินาที
นอกจากนี้ ฟอร์ดได้ร่วมมือกับบริษัท 3M และ จีอี เฮลธ์แคร์ เพิ่มความสามารถในการผลิตอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนให้แก่บุคลกรทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงการร่วมมือกับจีอี เฮลธ์แคร์ ผลิตเครื่องช่วยหายใจ 50,000 เครื่องภายใน 100 วัน และเพิ่มการผลิตให้ได้ 30,000 เครื่องต่อเดือน เพื่อสนองต่อความต้องการในอนาคต
ฟอร์ดยังทำงานร่วมกับ 3M เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องช่วยหายใจแบบใช้อากาศบริสุทธิ์ (PAPR) รุ่นปัจจุบันและร่วมกันออกแบบเครื่องรุ่นใหม่โดยใช้ชิ้นส่วนที่มีใช้อยู่แล้วในทั้งสองบริษัท เพื่อสนองต่อความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ให้ฉับไวยิ่งขึ้น
ในสหราชอาณาจักร ฟอร์ดกำลังประเมินรายละเอียดต่างๆ ร่วมกับรัฐบาลอังกฤษ เพื่อผลิตเครื่องช่วยหายใจเพิ่มเติม ขณะที่ในประเทศออสเตรเลีย ฟอร์ดกำลังพัฒนาหน้ากากป้องกันใบหน้าจากวัสดุในประเทศเพื่อแจกจ่าย ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เช่นกัน
นอกจากนี้ กองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ซึ่งเป็นหน่วยงานเพื่อสังคมของฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนียังได้ประกาศโครงการ โควิด-19 โดเนชั่น แมช เปิดโอกาสให้พนักงานและบุคคลทั่วไป ร่วมระดมทุนสนับสนุนองค์กรไม่แสวงผลกำไรและองค์กรเพื่อชุมชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 20 ประเทศ รวมถึงในประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัส โควิด-19 ในครั้งนี้ด้วย
บรรยายภาพ:
นายสาธิต ปิตุเตชะ (ที่ 2 จากขวา) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ (ที่ 1 จากขวา) อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รับมอบหน้ากากป้องกันใบหน้า (Face Shields) จากนายวิชิต ว่องวัฒนาการ (ที่ 2 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย และนายสมศักดิ์ พะเนียงทอง ประธานคณะกรรมการผู้จำหน่ายฟอร์ด โดยอาสาสมัครพนักงานฟอร์ดในประเทศไทยร่วมกันผลิตหน้ากากป้องกันใบหน้า 100,000 ชิ้น เพื่อมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ
รับมือโควิด-19 ผ่านช่องทางของกระทรวงสาธารณสุขและผู้จำหน่ายฟอร์ดทั่วประเทศ
ข้อมูลเกี่ยวกับฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี
ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเดียร์บอร์น รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยธุรกิจของบริษัท ได้แก่ การออกแบบ ผลิต ทำการตลาด และบริการหลังการขาย สำหรับรถยนต์ รถกระบะ รถเอสยูวี รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในแบรนด์ฟอร์ด และแบรนด์ลินคอล์น ซึ่งเป็นแบรนด์ในตลาดรถหรู รวมถึงให้บริการด้านการเงินผ่านบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต และบริษัทกำลังเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และแผนการสัญจรอัจฉริยะ ฟอร์ดมีพนักงานรวมประมาณ 190,000 คนทั่วโลก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟอร์ด ผลิตภัณฑ์ของฟอร์ด และฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต โปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ที่ www.corporate.ford.com