กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 3/2563 ว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางบริหารจัดการการขนส่งผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานกหารณ์การระบาดของโรค COVID-19 รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการค้ามะม่วงซึ่งผลผลิตไม่สามารถส่งออกได้ราว 360,000 ตัน และในปี 2563 ได้มีการคาดการณ์ปริมาณไม้ผลที่จะให้ผลผลิต คือ ทุเรียน 584,712 ตัน มังคุด 201,741 ตัน และเงาะ 220,946 ตัน โดยจะออกสู่ตลาดมากช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 แต่เมื่อได้รับผลกระทบ COVID-19 มีการวิเคราะห์ว่าจะส่งออกทุเรียนได้ 350,827 ตัน มังคุด 108,940 ตัน และเงาะ1,767 ตัน รวม 461,534 ตัน จึงมีส่วนต่างของผลผลิตที่ส่งออกไม่ได้ตามภาวะปกติ ดังนี้ ทุเรียน 58,471 ตัน มังคุด 12,105 ตัน และเงาะ 13,699 ตัน รวมทั้งสิ้น 84,275 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต้องบริหารจัดการ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าเกษตรอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบเช่นกันทั้งพืชผัก ไม้ดอก ประมง ปศุสัตว์ ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีความห่วงใยเรื่องดังกล่าว พร้อมกำชับให้หน่วยงานในสังกัดเร่งหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
โดยในส่วนของไม้ผลได้ข้อสรุป 2 มาตรการ คือ 1) มาตรการช่วยเหลือในการกระจายและควบคุมคุณภาพสินค้า มี 4 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการประสานใจเกษตรกรไทยสู่พี่น้องชาวจีนสู้วิกฤต COVID-19 เป้าหมาย ทุเรียน 20 ตัน มังคุด 20 ตัน, โครงการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ภายในประเทศ Eat Thai First เป้าหมาย 111,000 ตัน, โครงการสินค้าเกษตรไทยปลอดภัยจาก COVID-19 เป้าหมาย รับรอง GAP 70,000 แปลง รับรอง GMP 180 โรง และโครงการหาตลาดใหม่สินค้าเกษตรเพิ่มเติม ได้แก่ จีน UAE ตุรกี และเครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งแต่ละโครงการจะมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบในการกระจายผลผลิตไป ยังแหล่งต่าง ๆ และ 2) มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ได้มอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสนับสนุนหรือบริโภคสินค้าเกษตรไทยสู้ภัย COVID-19 และกระทรวงเกษตรฯ ได้ประสานงานเกี่ยวกับแนวทางบริหารระบบการจัดการขนส่งผลไม้ (Logistic) เพื่อจัดการผลผลิตให้สามารถกระจายได้ในพื้นที่ 77 จังหวัด และจำหน่ายออกสู่ต่างประเทศให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกันพิจารณาทางเลือกในการขนส่งหลาย ๆ ช่องทางทั้งทางอากาศ ทางบก และทางเรือ เพื่อวิเคราะห์หาจุดคุ้มค่าในการขนส่งพร้อมจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกัน โดยการขนส่งผลไม้ทางอากาศ ขอสนับสนุนค่าชดเชยการระวางสินค้า กิโลกรัมละไม่เกิน 15 บาท ให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป้าหมายการดำเนินงาน 4,400 ตัน (เกาหลี 3,800 ตัน ญี่ปุ่น 1,000 ตัน) คิดเป็นเงิน 66 ล้านบาท การขนส่งภายในประเทศทางรถยนต์ ให้มีหน่วยงานรวบรวมในลักษณะตลาดกลาง หรือเป็น Hub เพื่อกระจายผลผลิตภายในประเทศต่อ และขอความร่วมมือบริษัทเอกชนต่าง ๆ ช่วยลดราคาค่าขนส่งผลไม้ลง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้เร่งกระจายผลผลิตผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ หรือบริการขนส่งแทนการซื้อขายปกติ
นอกจากนี้ ในวันที่ 9 เม.ย. 63 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ กระทรวงพาณิชย์ จัดให้มีพิธีลงนาม MOU ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าภายใน ตลอดจน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สมาพันธ์โลจิสติกไทย และผู้ให้บริการขนส่งเอกชน เป็นต้น
ด้านนายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วนจากการปิดเมืองหรือการยกเลิกกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมการผลิต การค้าปลีก การค้าระหว่างประเทศ การขนส่ง รวมทั้งสินค้าเกษตร ซึ่งบางสินค้าจะมีผลผลิตออกมากในช่วงวิกฤตนี้และไม่สามารถส่งออกได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะตลาดเกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป ซึ่งต้องส่งทางเครื่องบินและขณะนี้ไม่มีเที่ยวบินไปยังประเทศเหล่านี้ ตลาดในประเทศชะลอตัวเนื่องจากผู้บริโภคเดินตลาดน้อยลง และเน้นการซื้อสินค้าที่จำเป็นมากกว่า ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ ซึ่งสินค้าไม่สามารถเก็บรักษาได้ในระยะเวลานาน เช่น มะม่วง มังคุด องุ่น ลิ้นจี่ ลำไย พืชผัก ไม้ดอกต่าง ๆ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องรีบจำหน่ายผลผลิตให้ถึงมือผู้บริโภคก่อนสินค้าเกษตรจะเสียหาย
กระทรวงเกษตรเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจัดทำโครงการสนับสนุนสินค้าเกษตรไทยสู้ภัย COVID-19 เพื่อรณรงค์ส่งเสริมสินค้าเกษตรไทยและช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนในช่วงสถานการณ์ COVID – 19 ภายใต้แนวคิด (Campaign) “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” โดยให้ส่วนราชการ บริษัท ห้าง/ร้าน และประชาชนช่วยกันอุดหนุนซื้อสินค้าเกษตรคุณภาพดีไปมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ทหาร เทศกิจ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ที่ต้องเสียสละเวลาในการดูแลประชาชนในพื้นที่ หรือเป็นของขวัญของฝากคนที่รักและห่วงใยแก่ครอบครัวที่ต้องอยู่ห่างไกลกัน ให้ได้บริโภคสินค้าเกษตรสดและมีคุณภาพในช่วงนี้ รูปแบบการดำเนินงานเบื้องต้นจะเชิญชวนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ บริษัท ห้าง/ร้าน และประชาชน ร่วมสั่งซื้อสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพจากเกษตรกร และนำไปมอบให้กับผู้มีภารกิจหน้าที่ในการป้องกัน รักษาสุขภาพของประชาชนต่อสู้ภัย COVID – 19 ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค โดยกรมส่งเสริมการเกษตรหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบสินค้านั้น ๆ เช่น กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมการข้าว ประสานอำนวยความสะดวกการสั่งซื้อสินค้าจากเกษตรกรให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีความประสงค์จะสั่งซื้อสินค้าดังกล่าว
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือในการกระจายและควบคุมคุณภาพสินค้าสู้ภัย COVID-19 ทั้ง 4 โครงการย่อยนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมสนับสนุนในทุกโครงการ โดยเฉพาะโครงการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ภายในประเทศ Eat Thai First ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ประสานงานกับตลาดไทและ Home pro เรียบร้อยแล้ว มีเป้าหมายการจำหน่ายสินค้าทั้ง 2 แห่ง รวม 1,200 ตัน โดยตลาดไทยินดีให้ใช้พื้นที่ในช่วงฤดูกาลผลิต นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ในการส่งเสริมเกษตรกรให้จำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ โดยคัดเลือกเกษตรกรและเกษตรกรแปลงใหญ่ลงทะเบียนกับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อกระจายสินค้าสู่ตลาดปลายทาง เป้าหมาย 2,000 ตัน ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ค่าขนส่งสินค้าเกษตรเฉพาะผักและผลไม้สด กิโลกรัมละ 8 บาท ภายใต้เงื่อนไขเกษตรกรต้องสมัครเป็นสมาชิกจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านระบบ Thailandpostmart.com และเมื่อสมัครต้องใส่โค้ด : กรมส่งเสริมการเกษตร และต้องได้รับการอนุมัติให้ขายผ่าน Thailandpostmart.com นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้เตรียมเปิดเพจส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ภายใต้ชื่อ “ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com” ซึ่งจะมีหมวดหมู่สินค้าให้เลือกช้อป 9 หมวดหมู่ ได้แก่ ผัก, ผลไม้, ไม้ดอกไม้ประดับ, ข้าวและธัญพืช, อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม, สมุนไพรและเครื่องสำอาง, ผ้าและเครื่องแต่งกาย, หัตถกรรมและสิ่งประดิษฐ์ และอื่น ๆ โดยจะเริ่มเปิดตัวในวันที่ 9 เมษายน 2563 นี้