กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency IDR) เป็น 'BBB+’ จาก 'A-’ และปรับเป็น แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ จาก แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับลดอันดับเครดิตสากลของธนาคารแม่ ซึ่งคือ MUFG Bank, Ltd. (A-/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/a-) ซึ่งสะท้อนถึงการด้อยลงของความสามารถในการให้การสนับสนุนเป็นพิเศษนอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (extraordinary support) แก่ BAY และฟิทช์ยังได้คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Foreign Currency IDR) ของธนาคารที่ 'F1’ และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ที่ 'bbb’
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวได้รับการคงอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)’ และปรับเป็น แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ จาก แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิได้รับการคงอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)’
อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ BAY ถูกปรับลดอันดับเป็น 'AA(tha)’ จาก 'AA+(tha)’ เพื่อให้สอดคล้องกับกรณีพื้นฐานของการจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตฉบับปรับปรุงใหม่ของฟิทช์
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุน อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุน อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคารมีปัจจัยหลักในการพิจารณาอันดับเครดิตการสนับสนุนจาก MUFG โดย BAY เป็นบริษัทลูกที่มีบทบาทสำคัญในเชิงกลยุทธ์ในภูมิภาคต่อ MUFG และมีการดำเนินการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพกับกลุ่มธนาคารแม่ในด้านการให้บริการธนาคารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ MUFG มีสัดส่วนการถือหุ้นใน BAY ที่ 76.9% และมีอำนาจการบริหารงานควบคุม อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY สะท้อนถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารเทียบกับธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศของไทย โดยฟิทช์ประเมินแล้วว่าโครงสร้างเครดิตของ BAY ยังคงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับระดับที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAY เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร
BAY และ MUFG มีความเชื่อมโยงและผสานการดำเนินงานกันอย่างใกล้ชิดมาก เช่น ในด้านการตลาด ด้านการดำเนินงาน และด้านการบริหารความเสี่ยง BAY เป็นผู้ให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย และมีการร่วมมือกันในด้านธุรกิจกับบริษัทต่างๆ ในภูมิภาคของกลุ่ม MUFG ยังได้ให้การสนับสนุนด้านการดำเนินงานแก่ BAY ซึ่งรวมถึง ผลิตภัณฑ์ทางการเงินและระบบ IT
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY ที่ 'bbb’ แสดงถึงโครงสร้างเครดิตของตัวธนาคารเอง ซึ่งพิจารณาจากการที่ BAY เป็น 1 ใน 5 ธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านของเงินฝากที่ 11% ณ สิ้นปี 2562 นอกจากนี้ธนาคารมีการดำเนินงานที่หลากหลายและรองรับหลายกลุ่มลูกค้าและยังมีบริการทางการเงินที่ครบถ้วนและหลากหลาย นอกจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นแล้ว BAY ยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อลูกค้ารายย่อย
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินยังสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจจะเผชิญกับความท้าทายและเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส และเหตุกาณ์ดังกล่าวจะยิ่งส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานในประเทศไทยที่อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและทั่วโลกที่ชะลอตัว แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการผ่อนปรนเพื่อช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ แต่มาตรการเหล่านี้ไม่น่าจะหักล้างความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อลูกหนี้ที่มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอหรือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางได้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของธาคารไทยสามารถดูได้จาก “Coronavirus Outbreak Increases Challenges for Thai Banks’ Operating Environment” ลงวันที่ 2 เมษายน 2563
เนื่องจากระยะเวลาและแนวโน้มความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดของโคโรน่าไวรัสยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งตามสมมติฐานกรณีฐานของฟิทช์นั้นผลการดำเนินงานของ BAY อาจได้รับผลกระทบในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญจะปรับตัวด้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2562 อย่างไรก็ตามอาจจะไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับธนาคารส่วนใหญ่ในประเทศ โดยนอกจากระดับค่าใช้จ่ายการสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่อาจเพิ่มขึ้นแล้ว รายได้ของธนาคารก็อาจจะปรับตัวลดลงจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำรวมถึงรายได้ที่มิใช้ดอกเบี้ยที่ชะลอตัว ฟิทช์คาดว่าผลกำไรจากการดำเนินงานของธนาคารน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคารอย่างน้อยในอีก 2 ปีข้างหน้า
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต–หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ BAY ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ 2 อันดับ ซึ่งสอดคล้องกับกรณีพื้นฐานในการจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ประเภทดังกล่าวตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ฉบับปรับปรุงใหม่ และสะท้อนถึงการที่หุ้นกู้ด้อยสิทธิมีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้คืน (recovery rate) ในอัตราที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ทั้งนี้ไม่ได้มีการปรับลดอันดับเครดิตเพิ่มเติม เนื่องจากหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption)
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุน อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุน ของ BAY อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากสมมติฐานใน
ด้านการได้รับการสนับสนุนปรับตัวดีขึ้น เช่น การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ MUFG อาจสะท้อนถึงความสามารถในการให้การสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นและส่งผลให้อันดับเครดิตได้รับการปรับขึ้น
อันดับเครดิตภายในประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากเป็นระดับที่สูงที่สุดแล้ว
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การที่ MUFG มีความสามารถในการให้การสนับสนุนแก่ BAY ลดลง (เช่นในกรณีที่ MUFG ถูกปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ) เหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตสนับสนุน ของ BAY
การลดลงของโอกาสที่ MUFG จะให้การสนับสนุนแก่ BAY จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตสนับสนุนของ BAY ตัวอย่างเช่น การลดสัดส่วนการถือหุ้นใน BAY ลงต่ำกว่า 75% รวมทั้งการลดระดับความเชื่อมโยงในด้านการบริหารจัดการและควบคุมของธนาคารแม่ อย่างไรก็ตามฟิทช์ไม่คาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะอันใกล้
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่แข็งแกร่งมากเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะสะท้อนในการปรับตัวดีขึ้นของความสามารถในการแข่งขัน โดยอาจบ่งชี้ได้จากอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงกว่า 2.5% อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราส่วนคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารให้อยู่ในระดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม (เช่น ต่ำกว่า 2% อย่างต่อเนื่อง) โดยไม่ได้มีการเพิ่มระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้อย่างมีนัยสำคัญจากมุมมองของฟิทช์ อย่างไรก็ตามด้วยสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานปัจจุบันโอกาสที่จะเกิดการปรับเพิ่มอันดับนั้นไม่น่าจะเกิดในช่วง 2 ปีข้างหน้า
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจถูกปรับลดอันดับ หากมีการปรับตัวด้อยลงอย่างมากและมากกว่าที่ฟิทช์คาดไว้ของอัตรส่วนที่สำคัญด้านคุณภาพสินทรัพย์และด้านกำไร ซึ่งปรับลงไปในระดับที่ด้อยกว่าธนาคารในกลุ่มเดียวกันหรือค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ซึ่งเหตุกาณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ฟิทช์อาจต้องทำการประเมินระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคารใหม่รวมทั้งความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในภาวะที่ภาคอุตสาหกรรมเผชิญความยากลำบาก ตัวอย่างเช่น อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพที่สูงกว่า 4% และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ต่ำกว่า 1.5%
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต – หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ BAY ไม่มีโอกาสได้รับการปรับเพิ่มอันดับ เนื่องจากอันดับเครดิตอ้างอิงซึ่งคืออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ในอันดับที่สูงที่สุดแล้ว
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิของ BAY จะถูกปรับลดอันดับ จากการปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร ซึ่งเป็นอันดับเครดิตอ้างอิง
การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตาม ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้จาก Fitch’s ESG Relevance Scores ที่ www.fitchratings.com/esg
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้
BAY
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ปรับลดอันดับเครดิตเป็น 'BBB+’ จาก 'A-’; ปรับเป็น แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ จาก แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F1’อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับเครดิตที่ 'bbb’อันดับเครดิตสนับสนุน ปรับลดอันดับเครดิตเป็น '2’ จาก '1’อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)’ ปรับเป็น แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ จาก แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ 'F1+(tha)’อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน คงอันดับเครดิตที่ 'AAA(tha)’อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (ตามเกณฑ์บาเซล 3) ปรับลดอันดับเครดิตเป็น 'AA(tha)’ จาก 'AA+(tha)’