เลิศ โกลบอล กรุ๊ป ชี้ช่องทำตลาดช่วง Lockdown แนะผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับกำลังซื้อชาวจีนพุ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 10, 2020 16:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--เลิศ โกลบอล กรุ๊ป เลิศ โกลบอล กรุ๊ป ผู้นำในด้านการตลาดและดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งจีนครบวงจร (One stop service for China Market) แนะผู้ประกอบการเตรียมแผนการตลาดรับมือ Lockdown ยาวถึงสิ้นเมษายน ยกตัวอย่างจีนปรับแผนธุรกิจ สร้างฐานข้อมูลลูกค้า รับกำลังซื้อฟื้นแรงหลังสถานการณ์คลี่คลาย กระตุ้นผู้ประกอบการไทยเตรียมพร้อมลุยตลาด หลังจีนผ่านวิกฤติ คุณสุวัฒน์ รักทองสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เลิศ โกลบอล กรุ๊ป ผู้นำในด้านการตลาดและดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งจีน เปิดเผยว่า จากกรณีที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนงดเดินทางออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น (Lockdown) ตามพรก.ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมาก ที่นักการตลาดต้องเรียนรู้และเตรียมพร้อมรับมือ รวมถึงการปรับแผนทางธุรกิจและวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ย้อนกลับไปเมื่อ 3 – 4 เดือนก่อน เมืองใหญ่อย่างอู่ฮั่น ที่มีประชากรราว 11 ล้านคน ได้มีมาตรการล็อกดาวน์ เนื่องจากเป็นเมืองแรกที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก เกิดการกักตุนอาหารรวมไปถึงของใช้ที่จำเป็น ทำให้ชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตว่างเปล่าในเวลาอันรวดเร็ว แต่สถานการณ์คืนสู่ภาวะปกติในเวลาไม่นาน จากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการระบบและทำงานร่วมกับผู้ค้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยให้เกิดการฟื้นฟูสถานการณ์ที่เด่นชัดนี้มี 2 ปัจจัย ได้แก่ ระบบจัดส่งสินค้าที่เปิดใช้งานแบบดิจิทัล: ในเมืองหลัก ๆ ของจีน Groceries และสินค้าอื่น ๆ สามารถซื้อผ่านระบบออนไลน์และส่งตรงถึงบ้านภายในเวลาเพียงแค่ 20 นาทีหลังจากสั่งซื้อ ยกตัวอย่างเช่น การใช้เครือข่ายไช่เหนี่ยวของอาลีบาบาให้การสนับสนุน Supply chains ของผู้ประกอบการที่ให้บริการผ่านทาง AI อย่างระบบจัดการสินค้าคงคลังดิจิทัลที่ลิงก์กับโลกซื้อขายสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ ขณะที่หน้าร้านเองก็สามารถขยายเครือข่ายกระจายสินค้าได้แทบจะทันที ความสะดวกสบายของผู้บริโภคในโลกออนไลน์: 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งอาลีบาบากรุ๊ป JD.com MTDP (เหม่ยถวนเตี่ยนผิง) และบริษัทอื่น ๆ ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคชาวจีน ก้าวผ่านการซื้อของแบบเก่าไปสู่โลกออนไลน์ โดยอีคอมเมิร์ซของจีนได้ครองสัดส่วนของค้าปลีกถึงประมาณ36.6% การสนับสนุน Supply chains ในระบบดิจิทัล ทำให้ธุรกิจสามารถจัดส่งสิ่งของจำเป็นให้กับผู้คนที่อยู่ระหว่างการกักกันตัวเองได้ หรือบางชุมชนของเมืองปักกิ่ง ได้จัดตั้งกลุ่มอาสาเล็ก ๆ ผ่านทางกลุ่มแชท เพื่อเป็นตัวแทนในการรับสินค้าและนำไปแจกจ่ายให้บ้านแต่ละหลังในชุมชนอีกด้วย สำหรับผู้ประกอบการ ช่วงเวลานี้มีคำถามว่าควรทำการตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์หรือไม่ หากดูกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศจีน แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการบริโภคได้ถูกบีบให้เหลือน้อยลง แต่ไม่ได้หายไปเลยโดยสิ้นเชิง ความสามารถในการบริโภค (Consumption ability) ยังคงมีอยู่เช่นเดิม หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถูกควบคุมได้แล้ว ความต้องการในการบริโภคก็จะได้รับการปลดปล่อยออกมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว จนอาจก่อให้เกิดปรากฏการณ์การระเบิดความต้องการออกมาในชั่วเวลาสั้น ๆ (Blowout Effect) จากข้อมูลของแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า “???”(Are you hungry?) ระบุ หลังจากการกลับมาทำงานอีกครั้งครบ 4 สัปดาห์เต็มนับตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.เป็นต้นมา คนเซี่ยงไฮ้สั่งชานมผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวมากถึง 330,000 ออเดอร์ โดยมีผู้ใช้รายหนึ่งที่สั่งชานมในคำสั่งซื้อเดียวกันมากถึง 77 แก้ว นอกจากนี้ ของทอดทานเล่นขึ้นชื่อของเซี่ยงไฮ้ก็มียอดสั่งซื้อถล่มทลายไปกว่า 62,000 ออเดอร์ เห็นได้ชัดว่าความต้องการบริโภคอาหารที่ถูกอัดอั้นมานานได้รับการปลดปล่อยออกมาอย่างไม่ขาดสาย “ประสิทธิภาพของโฆษณา (Effectiveness of Advertisement) ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการสั่งสม หากองค์กรธุรกิจละทิ้งการทำสื่อโฆษณาในช่วงเวลานี้ไป นั่นเท่ากับว่าได้ละทิ้งโอกาสทองในช่วงจังหวะที่จะเกิดปรากฏการณ์ระเบิดความต้องการในการบริโภค (Blowout Effect) ในอนาคตไปด้วย” คุณสุวัฒน์กล่าว อย่างไรก็ตาม ในการวางแผนสื่อสาร ประชาสัมพันธ์นั้น ต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย โดยในช่วงที่มีการลดกิจกรรมนอกบ้านของประชาชน นักการตลาดควรลดปริมาณการทำสื่อโฆษณากลางแจ้งลง และหันมามุ่งเน้นไปที่การทำสื่อโฆษณาผ่านทางอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้นแทน เพราะช่วงที่ประชาชนอยู่บ้านอัตราการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตและทีวีจะเพิ่มสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ เนื้อหาของสื่อโฆษณา นอกเหนือจากโฆษณาของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคแล้ว ควรเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ (Brand Awareness) เป็นการเพิ่มชื่อเสียงของแบรนด์(Brand Reputation) ด้วยการโฆษณาบริการสาธารณะ (Public Service Advertising) ที่มีความสร้างสรรค์ รองลงมาคือการทำโฆษณาตัวแบรนด์ (Brand Advertising) ส่วนโฆษณาตัวสินค้าและการกระตุ้นยอดขายนั้นอาจได้ผลลัพธ์ที่ไม่น่าพึงพอใจนัก “ที่สำคัญที่สุดก็คือ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในครั้งนี้ ผู้คนจะหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ ดูแลตัวเองและใส่ใจในคุณค่าของชีวิต รวมถึงให้ความสำคัญกับคนในครอบครัว ญาติมิตร รวมถึงเพื่อน และผู้คนที่อยู่รอบกายมากยิ่งขึ้น ดังนั้น แบรนด์สามารถยึดแนวทางนี้เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์และเนื้อหาของโฆษณาในอนาคตได้” คุณสุวัฒน์ระบุ คุณสุวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับภาคธุรกิจแล้ว ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องทำก็คือการเร่งปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ให้ได้ เริ่มวางแผนกลยุทธ์ และการทำธุรกิจแบบออนไลน์ หัวใจสำคัญของ “การตลาดติดบ้าน” ก็คือการเก็บสะสมข้อมูลของผู้ใช้ไว้ และต้องทำการตลาดให้ครบทุกช่วงเวลา ทุกกลุ่มลูกค้า และทุกรูปแบบตลาด ขณะเดียวกันต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากเครื่องมือใหม่ ๆ ไปพร้อมกับลูกเล่นต่าง ๆ ในแต่ละแพลตฟอร์ม สิ่งสำคัญอีกประการที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมให้พร้อมคือกำลังซื้อมหาศาลในจีนที่จะถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว สินค้า และบริการต้องเพียงพอต่อความต้องการของชาวจีนที่มีความพร้อมในการจับจ่ายเป็นอย่างมาก เพื่อทดแทนในช่วงเวลาที่พวกเขาต้องเสียไปหลังจากการระบาดของโควิด 19 และขณะนี้สถานการณ์ในประเทศไทยเองกำลังอยู่ในช่วงผันผวน จะเป็นการดีไม่น้อยถ้าจะอาศัยจังหวะนี้เตรียมการสำหรับรับมือต่อความอัดอั้นมาอย่างยาวนานของชาวจีน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ