มกอช. เดินเครื่องมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่

ข่าวทั่วไป Friday April 10, 2020 16:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ มกอช. เดินเครื่องมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่ คุมเข้มกระบวนการ ผลิตไข่ไก่คุณภาพ ปลอดโรค “ไข่ไก่” กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากของผู้บริโภค ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ขณะนี้ ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุด ที่ผู้บริโภคควรคำนึงถึง คือ การบริโภคไข่ที่ปลอดภัย ฉะนั้น อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไข่ ในประเทศไทย ต้องเฝ้าระวังและการควบคุมโรคระบาด การควบคุมความปลอดภัย และคุณภาพไข่ไก่ โดยเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการจัดการฟาร์มไก่ไข่ที่เลี้ยง เพื่อยกระดับการปฏิบัติทางการเกษตรสำหรับฟาร์มไก่ไข่ให้ได้ไข่ไก่ที่ปลอดภัย มีคุณภาพ และเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประกาศเรื่อง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ ตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 และมีการออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ เป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ.2563 มาตรฐาน เลขที่ มกษ. 6909-2562 โดยมีสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นเจ้าภาพหลัก ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว สำหรับเป็นแนวทางในการพัฒนาฟาร์มไก่ไข่ให้เป็นที่ยอมรับ ในการค้าทั้งในและต่างประเทศ ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า มกษ. 6909-2562 มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ เป็นการกำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ที่เลี้ยงไก่ไข่เพื่อการค้าจำนวนตั้งแต่ 1,000 ตัวขึ้นไป ครอบคลุมองค์ประกอบฟาร์ม การจัดการฟาร์ม อาหาร น้ำ การจัดการบุคลากร การจัดการสุขภาพสัตว์ การจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ การจัดการไก่รุ่น ไก่ระยะไข่และไข่ไก่ การจัดการสิ่งแวดล้อม การบันทึกข้อมูล เพื่อให้ได้ไข่ไก่ที่ปลอดภัย มีคุณภาพ เหมาะสมในการนำไปบริโภคเป็นอาหาร อย่างไรก็ดี ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตร จะต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า หากผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท โดยสามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของ มกอช. ได้ที่เว็บไซต์ http://tas.acfs.go.th ของระบบ TAS-License หรือผ่าน NSW และทำการลงทะเบียนสมาชิกเพื่อเข้าใช้งานระบบ รวมทั้งผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า จะต้องขอรับการตรวจสอบและได้ใบรับรองตามมาตรฐานบังคับจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยผู้ที่ประสงค์จะขอรับการตรวจสอบเพื่อขอรับใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร สามารถยื่นคำขอได้ที่ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ หรือผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานที่ได้รับใบอนุญาตให้ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจาก มกอช. “ปัจจุบันประเทศไทย มีฟาร์มไก่ไข่ทั่วประเทศ 2,941 ฟาร์ม แบ่งเป็น ฟาร์มที่ได้รับมาตรฐาน GAP จำนวน 1,536 ฟาร์ม และไม่ได้รับมาตรฐาน GAP 1,405 ฟาร์ม แบ่งขนาดฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ตามการบังคับเป็น 3 ขนาด คือ 1.ฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ 1-999 ตัว จำนวน 422 ฟาร์ม ไม่อยู่ในขอบข่ายการบังคับของมาตรฐาน 2.ฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ 1,000 ตัว - 99,999 ตัว จำนวน 2,448 ฟาร์ม ต้องเข้าสู่การบังคับใช้ภายใน 5 ปี และ3.ฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป จำนวน 71 ฟาร์ม ต้องเข้าสู่การบังคับใช้ภายใน 1 ปี”เลขาธิการ มกอช. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ