วช. จัดสัมมนา เรื่อง “การสร้างแก้วสำหรับงานศิลป์”

ข่าวทั่วไป Tuesday May 31, 2005 08:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--วช.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำหนดจัดการสัมมนาผลการวิจัย เรื่อง “การสร้างแก้วสำหรับงานศิลป์” ในวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน 2548 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 2 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เวลา 09.30 น.
แก้วศิลป์ เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ประโยชน์จากแก้วเพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางด้านศิลปะ การเป่าแก้ว เป็นการสร้างสรรค์ผลงานจากแท่งแก้วที่มีความแปลกใหม่ สวยงาม และมีคุณค่า ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดตั้งแผนกช่างเป่าแก้วขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมวิธีการเป่าแก้วให้แก่บุตรหลานของเกษตรกร บุคคลผู้ยากไร้ ด้อยโอกาส หรือผู้พิการ ให้มีความรู้ความสามารถ ในการนำแท่งแก้วมาหลอมและสร้างสรรค์ให้เป็นรูปแบบต่างๆ จนผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำไปประกอบอาชีพเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการสร้างสรรค์ศิลปะ
การเป่าแก้ว คือ ต้นทุนในการผลิตและความเป็นไปได้ในการที่จะสร้างเนื้อแก้วขึ้นเอง โดยใช้วัสดุภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าแท่งแก้วแบบต่างๆ จากต่างประเทศ ด้วยเหตุผลดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จึงได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่นายเชษฐ์ เอี่ยมจิตกุศล และคณะ ศูนย์ศิลปชีพบางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “การสร้างแก้วสำหรับงานศิลป์” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้วัสดุภายในประเทศสร้างเนื้อแก้วที่ใช้สำหรับงานศิลป์โดยมีคุณสมบัติทัดเทียมกับ
แท่งแก้วจากต่างประเทศ และถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อเป็นการฟื้นฟูงานด้านหัตถศิลป์ของคนไทย
ให้แพร่หลาย
คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยจนสามารถสร้างเนื้อแก้วโซดา (Soda — lime glass) ที่มีคุณสมบัติทัดเทียมกับของต่างประเทศ นับเป็นครั้งแรกของวงการแก้วในประเทศไทยที่สามารถคิดค้นสูตรที่เหมาะสม สามารถลดต้นทุนในการผลิตและลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ สำนักงานฯ จึงได้จัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการวิจัยดังกล่าว
ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงความก้าวหน้าของศิลปหัตถกรรมด้านแก้ว และกระบวนการสร้างเนื้อแก้วสำหรับงานศิลป์โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ประกอบด้วย นักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนผู้ที่สนใจ
จำนวนประมาณ 200 คน ซึ่งในการสัมมนานอกจากจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยและอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังได้จัดให้มีการแสดงและสาธิตการเป่าแก้ว การทำลูกปัดแก้ว การเพนท์สีแก้ว และการเจียรนัยแก้ว อีกด้วย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ