กรุงเทพฯ--15 เม.ย.--มหาวิทยาลัยมหิดล
การตรวจเชื้อเพื่อยืนยันผู้เข้าข่าย และยืนยันผู้ป่วย Covid-19 เป็นงานที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญสูง โดยปัจจุบันทำได้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งการรายงานผลที่ผิดพลาดอาจทำให้ผู้เข้ารับการตรวจเกิดความเข้าใจผิด คิดว่าตัวเองไม่ติดเชื้อ จนอาจละเลยการดูแลป้องกันตนเอง ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อต่อไปได้
ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า การตรวจโรคติดเชื้อ Covid-19 ในประเทศไทย สามารถทำได้ 2 วิธี โดยวิธีแรกคือ real-time RT PCR ซึ่งเป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส โดยวิธีการขูดเก็บเยื่อบุในคอ หรือเยื่อหลังโพรงจมูก ใช้เวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง ต้นทุน 2,500-3,000 บาท/ครั้ง ซึ่งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับการตรวจได้ฟรี ในขณะที่วิธีที่สอง คือ Rapid test ซึ่งไม่ได้เป็นการตรวจหาเชื้อ แต่เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันในเลือด โดยต้องตรวจหลังมีอาการป่วย 5-7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10-14 วัน ร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต้านเชื้อโรค ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ค่าตรวจอยู่ที่ประมาณ 200-500 บาท
โดยวิธี real-time RT-PCR เป็นวิธีมาตรฐาน (Gold standard) ที่ต้องทำในห้องแล็บที่ได้รับมาตรฐานเท่านั้น และเป็นวิธีเดียวที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขไทย ว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค และใช้ติดตามผลการรักษาได้
ศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการตรวจเพื่อยืนยันผู้เข้าข่าย และยืนยันผู้ป่วย Covid-19 นั้น ความมีประสิทธิภาพ แม่นยำ เที่ยงตรง และได้มาตรฐาน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องนำมาพิจารณาเป็นลำดับแรกๆ ซึ่งวิธีการเก็บตัวอย่างโดยการขูดเก็บเยื่อบุในคอ หรือเยื่อหลังโพรงจมูกออกมาตรวจหาเชื้อนั้น จะต้องระวังการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำในห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐานเท่านั้น
เมื่อเร็วๆ นี้มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะเทคนิคการแพทย์ ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ นักไวรัสวิทยาแถวหน้าของประเทศ ได้ออกแบบกระบวนการทดสอบเพิ่มเติม โดยอาศัยการตรวจวิเคราะห์ RNA ในส่วนของยีนเจ้าบ้าน (Housekeeping gene) จากเซลล์มนุษย์ ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถช่วยตรวจสอบคุณภาพตัวอย่างตรวจ และป้องกันการแปลผลลบผิดพลาด โดยนับเป็นห้องปฏิบัติการตรวจ Covid-19 แห่งแรกของประเทศไทยที่ริเริ่มนวัตกรรมดังกล่าว โดยเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ เที่ยงตรง และได้มาตรฐาน
คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การเก็บสิ่งส่งตรวจที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดผลลบปลอมขึ้นได้ ซึ่งการนำ Housekeeping gene เข้ามาวิเคราะห์ร่วมด้วย เพื่อดูสัญญาณการเพิ่มขึ้นของยีนที่บ่งชี้ในเบื้องต้นว่า มีเซลล์ของมนุษย์ หรือเซลล์เจ้าบ้านอยู่ในสิ่งส่งตรวจอย่างเหมาะสมหรือไม่ โดยดูผลร่วมกับการวิเคราะห์หา RNA ของเชื้อไวรัส จะทำให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำขึ้น ซึ่งหากตรวจเจอสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสก่อโรค Covid-19 จะแปลผลว่า พบการติดเชื้อ
ห้องปฏิบัติการคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อ Covid-19 โดยวิธี real-time RT-PCR เพิ่มการวิเคราะห์ RNA ในยีนเจ้าบ้าน (Housekeeping gene) โดยมี 2 รอบการทดสอบ คือ เวลา 09.30 น. และ 14.30 น. ทั้งนี้ สามารถส่งสิ่งส่งตรวจได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น. ณ ห้องปฏิบัติการศูนย์เทคนิคการแพทย์และรังสีเทคนิคนานาชาติ บริเวณชั้น 2 ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
"เราเป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการของภาครัฐและเอกชนที่มีจำนวนมากกว่า 90 แห่ง ที่ได้รับการรับรองความชำนาญทางห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้สามารถร่วมให้บริการรองรับความต้องการและทันต่อสถานการณ์ของประเทศได้ ด้วยนวัตกรรมการเพิ่มเติม Housekeeping gene ลงไปในการตรวจ จะทำให้กระบวนการควบคุมคุณภาพสิ่งส่งตรวจ และการแปลผลปฏิกิริยามีความถูกต้องมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความมั่นใจในการรายงานผลให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนเป็นการพิสูจน์ถึงศักยภาพทางวิชาการและการวิจัยที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังภารกิจพิชิต Covid-19 โดยเรามุ่งหวังให้ชาวไทยสามารถฟันฝ่าสถานการณ์วิกฤตในครั้งนี้ไปได้ในที่สุด" คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา กิติดี โทร. 092-554-5230 หรือทางอีเมล์ mumtcovidlab@gmail.com สำหรับประชาชนชาวไทยสามารถเบิกค่าใช้จ่ายการตรวจคัดกรองได้ตามสิทธิ์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)