กรุงเทพฯ--15 เม.ย.--มหาวิทยาลัยมหิดล
จากเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 ที่องค์การอนามัยโลก ได้มีการแถลงข่าวใช้คำว่า 'Physical Distancing’ (การเว้นระยะห่างทางกายภาพ) แทน 'Social Distancing’ (การเว้นระยะห่างทางสังคม) ในการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19 เนื่องจากคำว่า 'Social Distancing’ อาจมีผลลบต่อสุขภาพจิต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พวงเพชร เกษรสมุทร หัวหน้าภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จริงๆ แล้วการรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งแม้จะมีผลดีต่อสุขภาพกาย เพราะช่วยหยุดการแพร่ระบาด แต่ก็อาจจะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิต เพราะการอยู่กับสังคมเป็นสิ่งที่ช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจได้ ฉะนั้น ในภาวะวิกฤตที่เราต้องมี Physical Distancing แต่เราจะไม่ให้เกิด Psychological Distancing หมายความว่า แม้เราจะต้องห่างกันทางกาย แต่จิตใจของเรายังอยู่ใกล้กันได้ตลอดเวลา เรายังสามารถสื่อสารกับครอบครัว เพื่อน และคนที่เรารักได้ตลอดเวลา ถ้าเราเข้าใจแบบนี้ เราจะไม่ถูกแยก หรือตัดขาดออกจากสังคมกันอย่างสิ้นเชิง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พวงเพชร เกษรสมุทร กล่าวต่อไปว่า อยากให้มองภาวะวิกฤต Covid-19 ว่าเป็นวิกฤตที่ผ่านเข้ามา อยู่กับเราระยะหนึ่ง จากนั้นก็จะค่อยๆ ผ่านไป ตามหลักความเป็นจริงที่ว่า “สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป” หากในช่วงนี้จะมีความเครียดหรือวิตกกังวลบ้างถือเป็นเรื่องปกติ การฝึกหายใจคลายเครียดและฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบันจะช่วยให้เราสามารถคลายความเครียดและวิตกกังวลได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลมาก ต้องลดการเสพข่าว หรือจำกัดเวลาสำหรับความเครียดและวิตกกังวล โดยจัดเวลาช่วงใดช่วงหนึ่ง วันละครึ่งชั่วโมง หากเราจะเครียด/คิดมาก ก็ให้เครียด/คิดมากในช่วงเวลาที่จัดไว้ หากไม่ใช่ช่วงเวลาดังกล่าว เราจะไม่เครียด ไม่กังวล ไม่คิดมาก หางานอดิเรกที่ชอบทำ เช่น ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง เราจะได้ไม่เครียดตลอดเวลา ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการดำเนินชีวิต
"ขณะนี้ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดบริการให้ความรู้ และให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ผ่าน FB: รู้ทัน ป้องกัน ภัย Covid-19 ซึ่งจะมีบทความต่างๆ ที่ให้ความรู้ที่ถูกต้อง ไขข้อสงสัยว่าข่าวไหนจริง/ข่าวไหนปลอม พร้อมแนะวิธีการดูแลตนเอง บริการถาม-ตอบปัญหาทาง inbox และบริการให้การปรึกษาทางโทรศัพท์ ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. ทางหมายเลข 06-5903-2043, 06-5903-2085, 06-5903-2105, 06-5903-2123, 06-5903-2126, 06-5903-2132, 06-5903-2170, 06-5903-2171, 06-5903-2176, 06-5903-2203, 06-5903-2232, 08-5219-6895 และภาควิชาฯ กำลังขอทุนเพื่อจัดทำสื่อช่วยลดผลกระทบจากความเครียดในภาวะวิกฤต Covid-19 ที่มีต่อสุขภาพจิต" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พวงเพชร เกษรสมุทร กล่าว
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.0-2849-6210