มนัญญาลงพื้นที่ร้อยเอ็ด ชมศักยภาพสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด

ข่าวทั่วไป Monday April 20, 2020 09:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--กรมส่งเสริมสหกรณ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเยี่ยมชมโรงสีข้าวของสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิต 120 ตัน/วัน พร้อมเปิดเผยว่า เป็นการตอกย้ำเป้าหมายในการทำงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผ่านระบบสหกรณ์ว่าได้เดินมาถูกทาง เนื่องจากในยามวิกฤติระบบสหกรณ์จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลด ความเดือดร้อนให้สมาชิกได้ดี รวดเร็วและตรงกับความต้องการของชาชนในพื้นที่นั้นๆ เช่น สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด แห่งนี้ที่เป็นแก้มลิงสต๊อกข้าว ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถรองรับผลผลิตและช่วยเหลือสมาชิก 9,002 ครอบครัว ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวในเขตทุ่งกุลาร้องไห้กว่า 180,040 ไร่ เฉลี่ย 20 ไร่/ครอบครัว และได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 380 กก. โดยสหกรณ์รวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิกเฉลี่ยปีละประมาณ 53,853 ตัน คิดเป็น 34.74 % เมื่อเทียบกับปริมาณข้าวเปลือกของเกษตรกรในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ที่คาดว่าจะมีประมาณ ทั้งหมด 154,976 ตัน ทั้งนี้ ระบบสหกรณ์เป็นองค์กรที่ช่วยเหลือเกษตรกร โดยได้มีมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้สมาชิกด้วย ทั้งการเป็นแหล่งสินเชื่อหรือการลดภาระหนี้สิน ที่สำคัญคือเป็นครัวของจังหวัด เป็นครัวของพื้นที่ ที่ต้องการให้ทุกจังหวัดได้หันมาร่วมกันพลิกฟื้นอาชีพการเกษตร การปลูกผักไว้บริโภคในพื้นที่ โดยขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์กำลังเดินหน้า โครงการพาลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน เพราะในยามวิกฤติการเกษตรจะนำประเทศพ้นภัยตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานเศรษฐกิจพอเพียงไว้สามารถใช้ได้ทุกระดับทุกอาชีพ "ดังนั้น ในการเสนอของบประมาณเพิ่มเติมในพรก.เงินกู้ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีให้ตั้งเข้าไปก็จะของบจำนวนหนึ่งเพื่อมาเพิ่มศักยภาพสหกรณ์การเกษตรในการเป็นแก้มลิงชะลอผลผลิตทางการเกษตรป้องกันผลผลิตข้าวที่จะออกมาพร้อมกันในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวซึ่งจะทำให้ราคาตกต่ำ ซึ่งสหกรณ์มีศักยภาพในการรวบรวมและการแปรรูป จะช่วยเก็บชะลอข้าวและเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของเกษตรกรได้ โดยในเบื้องต้นนายกรัฐมนตรีได้ให้เสนอเรื่องเข้าไป เพราะขณะนี้กระทรวงถูกตัดงบ 10 % เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนจากโควิด - 19 เฉพาะหน้าก่อน โดยเป้าหมายเบื้องต้นของงบที่จะขอเพิ่มคือ การช่วยเหลือระบบน้ำในไร่นา เป็นระบบโซล่าเซลล์ ชุดละประมาณ 4 หมื่นบาท เพื่อให้เกษตรกรเดินหน้าทำการเกษตรได้ พึ่งตนเองได้ ซึ่งระบบสหกรณ์ที่เข้มแข็ง ก็จะสามารถนำพาตลาดได้ สิ่งสำคัญขณะนี้คือฝากทุกสหกรณ์ช่วยดูแลและช่วยเหลือสมาชิกเพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านวิกฤติโควิด - 19 ไปได้" นางสาวมนัญญากล่าว สำหรับที่สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด เป็นสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าวเปลือกในทุ่งกุลาร้องไห้นั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าเป็นตัวอย่างสหกรณ์เข้มแข็ง มีระบบการบริหารจัดการที่ดี ดูแลช่วยเหลือและคอยให้คำแนะนำด้านอาชีพแก่สมาชิกทำให้สมาชิกมีความเชื่อมั่น ส่งผลให้สามารถสร้างแบรนด์ยี่ห้อข้าวที่มีคุณภาพของสหกรณ์เอง จนได้รับยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในด้านมาตรฐานการผลิตข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งขอให้ทุก ๆ สหกรณ์ได้ช่วยกันพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนและเกิดความมั่นคง เชื่อมั่นว่าระบบสหกรณ์นั้นเป็นที่พึ่งให้เกษตรกรได้และดีที่สุด เพราะเกิดจากประชาชนที่เข้ามาร่วมมือและช่วยเหลือกัน นางบุญเกิด ภานนท์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์แห่งนี้ก่อตั้งมา 23 ปี ปัจจุบัน มีสมาชิก 9,002 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 13 ตำบล ดำเนินธุรกิจให้การบริการแก่สมาชิกเกษตรกร ในด้านการให้สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกร การจัดหาวัสดุการเกษตร การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกและครอบครัว ที่ผ่านมา ได้รับงบสนับสนุนผ่านโครงการไทยนิยมยั่งยืน ทำให้มีอุปกรณ์และขยายโรงรวบรวมจนสามารถเป็นแก้มลิงชะลอข้าวเปลือกออกสู่ตลาดได้ ขณะนี้มีสต๊อกเพียงพอที่จะสนับสนุนเพื่อนสมาชิกสหกรณ์ในฐานะเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการช่วยเหลือในการแลกเปลี่ยนสินค้ากับข้าวสารกับผลไม้ของสหกรณ์ในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคเหนือมาต่อเนื่องทุกปี นางบุญเกิดกล่าวด้วยว่า สำหรับผลผลิตในปีการผลิต 2562/63 สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด ได้รวบรวมข้าวหอมมะลิจากเกษตรกรสมาชิกจำนวน 48,371,291 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 589,821,009 บาท และคาดว่าอีกสองเดือนข้างหน้าราคาข้าวหอมมะลิจะเพิ่มขึ้นเป็น 18,000 บาทต่อตัน เพราะฝนที่ผ่านมาน้ำน้อยและในหน้าแล้งก็ไม่มีข้าว ดังนั้นจะเห็นว่าโครงการให้สหกรณ์ชะลอข้าวเปลือกเป็นเรื่องสำคัญหากทำได้ต่อเนื่อง 5 ปี จะส่งผลดีต่อระบบสหกรณ์ ซึ่งในส่วนของสหกรณ์เกษตรเกษตรวิสัย จำกัด ได้มีการให้เงินเพิ่มช่วยเหลือสมาชิกในการขายข้าวประมาณ 300 – 500 บาทต่อตัน ทำให้สมาชิกนำข้าวมาขายให้สหกรณ์ทุกปี เพราะราคาที่รับซื้อเป็นราคานำและสูงกว่าตลาดทั่วไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ