คิดใหม่ ทำใหม่ กับการเรียนการสอนออนไลน์ในช่วง COVID-19

ข่าวทั่วไป Monday April 20, 2020 10:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมดอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อาจารย์และนิสิตต้องปรับตัวสู่สภาวะการเรียนรู้ที่ไม่คุ้นเคยนำไปสู่ภาระที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในส่วนผู้สอนและผู้เรียน และการจัดการชีวิตการทำงานจากบ้านให้ลงตัว ขณะที่อาจารย์ก็ต้องใช้เวลามากขึ้นในการเตรียมการสอน นิสิตก็รับรู้ถึงการสั่งงาน และการต้องขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเองที่มากกว่าที่เคยเรียนในชั้นเรียนอย่างเห็นได้ชัด เหล่านี้ยังไม่รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันที่ถูกตีกรอบตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ตลอดจนความกลัวการติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะความเครียดสะสมและส่งผลกระทบในด้านต่างๆ ตามมา การปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์และความต้องการของผู้เรียน เป็นแนวทางหนึ่งที่ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาดของโรคนี้ แม้ยังไม่มีประกาศจากจุฬาฯ เรื่องการจัดการเรียนการสอน ทุกรายวิชาในรูปแบบออนไลน์ออกมา “มีผู้ปกครองบางส่วนกังวลเรื่องของความปลอดภัยทางด้านสุขภาพของนิสิตเราประเมินสถานการณ์ให้นิสิตได้อยู่กับที่เพื่อการเรียนแบบออนไลน์ บรรยากาศในการเรียนทั้ง 5 วิชาที่ผมสอนเปลี่ยนแปลงไปจากปกติที่เน้นเรื่องการอภิปรายแสดงความคิดเห็น พอมาเป็นออนไลน์ เรื่องของการโต้ตอบมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอาจน้อยลง ก็ต้องหาวิธีการจัดการกันใหม่ เช่น แบ่งการวิดีโอคอลเป็นกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อยในการส่งงานหรือการนำเสนองานก็จะให้นิสิตทำคลิปวิดีโอแล้วแขวนเอาไว้ใน Facebook ของรายวิชาให้เพื่อนๆ เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแทน ส่วนวิชาที่เป็นโครงงานที่ต้องมีการติดตาม ก็จะมีการกำหนดระยะเวลาในการนัดหมายออนไลน์เป็นกลุ่มๆ เป็นระบบให้การปรึกษาทางไกลแทน ถ้าเป็นโครงงานที่ต้องทำคนเดียว นิสิตอาจจะเกิดความเครียด ก็จะมีระบบเพื่อนช่วยเพื่อนช่วยกันอ่านงานและ Feedback กันและกัน ข้อดีคือทำให้เขารู้สึกเป็นคลาสเดียวกัน ได้เจอเพื่อน แล้วก็มีชั้นเรียนที่เป็นห้องใหญ่เป็นระยะๆ ด้วย” ผศ.อรรถพล อธิบาย ผศ.อรรถพล เล่าว่าเมื่อมหาวิทยาลัยปิดทำการ นิสิตต้องกลับไปอยู่ที่บ้าน โดยเฉพาะต่างจังหวัด ในช่วง 2 อาทิตย์แรกที่มีประกาศว่ามีบุคลากรและนิสิตจุฬาฯ ติดเชื้อCOVID-19 ก็จะมีนิสิตบางคนที่เกิดความเครียดและวิตกกังวลเนื่องจากถูกจับจ้องจากคนในชุมชนว่าทำไมกลับมาอยู่บ้าน ทำให้ออกไปไหนไม่ได้เลย ต้องแยกตัวเองออกจากคนอื่นๆ ซึ่งในช่วงนั้นจะเจอกรณีนี้เยอะมาก นิสิตที่พักอยู่คนเดียวในกรุงเทพฯ ก็เช่นเดียวกัน “มีเคสหนึ่งที่ครอบครัวอยู่ที่เยอรมันซึ่งเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยง นิสิตจะรู้สึกกังวลมาก ทั้งห่วงครอบครัว การเรียน และตัวเองก็ออกไปไหนไม่ได้เนื่องจากอาศัยอยู่ในคอนโดกลางเมืองที่มีข่าวการระบาดของโรค บรรยากาศทางสังคมค่อนข้างมีผลต่อพวกเขาอย่างมาก จึงต้องมีการให้คำปรึกษาเป็นรายๆ ไป เพื่อพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบนอกเหนือจากเรื่องเรียนและงาน การได้ปรับทุกข์ อัพเดตชีวิตความเป็นอยู่ก็ช่วยนิสิตได้ในระดับหนึ่ง” ผศ.อรรถพลเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมา จากเสียงสะท้อนของผู้ปกครองและนิสิตเรื่องภาระงานที่ให้นิสิตมากเกินความจำเป็น ผศ.อรรถพล มองว่าอาจเกิดจากอาจารย์หลายๆ ท่านคุ้นเคยกับการสอนแบบบรรยายเป็นหลัก เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติจึงต้องมีการสั่งงานหลายๆ ชิ้นพร้อมกันในทุกวิชาซึ่งเป็นสิ่งที่น่าห่วง เพราะเราไม่ได้ประเมินความเสี่ยงของเด็กเอาไว้ล่วงหน้า นิสิตจุฬาฯ มีความหลากหลายมาก หลายคนอยู่ต่างจังหวัดอาจจะไม่สะดวกทั้งเรื่องของความเป็นอยู่ สภาพทางเศรษฐกิจ และเครื่องมือในการเรียนออนไลน์ ส่วนอาจารย์หลายท่านก็ไม่คุ้นเคยกับเครื่องมือในการสอนออนไลน์ มหาวิทยาลัยต้องดูแลนิสิตและบุคลากรเป็นหมื่นๆ คน มาตรการการให้ความช่วยเหลืออาจจะไม่ทั่วถึง เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ทุกฝ่ายเผชิญกับเหตุการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ ในอนาคตหากต้องใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นหลัก ก็อยากให้มีการกำหนดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยให้ใช้รูปแบบเดียวกันทั้งหมดเพื่อความสะดวกและไม่เป็นภาระต่ออาจารย์และนิสิต” ผศ.อรรถพล เสนอแนะ เช่นเดียวกับ รศ.ภญ.ดร.ร.ต.อ.หญิง สุชาดา สุขหร่อง รองคณบดีฝ่ายนิสิตสัมฤทธิ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เสนอว่า หลังจากนี้มหาวิทยาลัยควรจัดการอบรมแก่อาจารย์ในเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพ ปัญหาเรื่องการเรียนการสอนของอาจารย์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติที่ต้องใช้ทักษะในการทำงาน และมีโอกาสที่จะเกิดทุจริตในการสอบได้ จะมีวิธีป้องกันอย่างไร อีกปัญหาหนึ่งคือการทำงานวิจัยของอาจารย์หากสถานการณ์นี้ยังคงอยู่ ทำให้อาจารย์ติดปัญหาเรื่องกำหนดส่งงานวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยมา “ในส่วนของการเรียนทางออนไลน์ มีข้อกังวลใจในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องประสิทธิภาพของการเรียนการสอนจะลดน้อยลงหรือไม่ การประเมินผลควรใช้เป็นเกรดหรือใช้วิธีผ่าน-ไม่ผ่าน รวมทั้งเรื่องการเรียนแบบไลฟ์สดก็อาจได้รับผลที่ไม่เท่าเทียมกันอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำของนิสิตในการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต ยังไม่รวมถึงเรื่องสถานที่ฝึกงานและช่วงเวลาฝึกงานของนิสิตในคณะอีก” ในฐานะรองคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ซึ่งดูแลนิสิตในด้านต่างๆ อาจารย์สุชาดาเผยว่าที่คณะได้ทำแบบสอบถามออนไลน์ผ่าน Google Form สำรวจปัญหาของนิสิตจากวิกฤต COVID-19 เพื่อเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือทั้งปัญหาด้านจิตใจ ที่พักหรือหอพัก ทุนการศึกษา รวมถึงกิจกรรม Live on YouTubeทอล์ก-กะ-นายก(สโมสรนิสิต) พบกับคณะผู้บริหารและหัวหน้าชั้นปี เพื่อรับฟังปัญหาและหาทางออกร่วมกัน “ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของสุขภาพและความกังวลในเรื่องการติดเชื้อ COVID-19 นิสิตมีความเครียดมากขึ้น เพราะการเรียนการสอนเปลี่ยนไปและต้องอยู่แต่ในบ้าน อาจารย์ที่ปรึกษาก็จะช่วยดูแลและโทรศัพท์พูดคุยกับนิสิต รวมทั้งมีการคุยกับผู้ปกครองด้วย เรื่องค่าเทอมและค่าใช้จ่ายส่วนตัวก็เป็นปัญหาหลักที่จะต้องเจอ สำนักบริหารกิจการนิสิตมีการเพิ่มสวัสดิการให้กับนิสิตที่เดือดร้อน ทางคณะก็ช่วยสนับสนุนเต็มที่” รองคณบดีฝ่ายนิสิตสัมฤทธิ์ คณะเภสัชศาสตร์ กล่าว ด้าน ผศ.สพ.ญ.ภาวนา เชื้อศิริ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งรับผิดชอบการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ของสุนัข ซึ่งมีทั้งการบรรยายและปฏิบัติการกับร่างอาจารย์ใหญ่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัวใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนแบบออนไลน์ อาจารย์เลือกวิธีผลิตสื่อและเผยแพร่ออนไลน์ในหลายช่องทางภายในเวลาจำกัด เช่น วิดีโอสาธิต และการสอนสดผ่านโปรแกรม Zoom ส่วนในการจัดสอบนั้น เลือกใช้โปรแกรม Blackboard เป็นหลัก เสริมด้วย Microsoft Teams ในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาระหว่างสอบ “โชคดีที่ทางคณะค่อนข้างปรับตัวได้เร็ว เสียงสะท้อนจากอาจารย์ในคณะส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการสอบออนไลน์ ซึ่งจะมีปัญหาหลายๆ เรื่อง เช่น การที่เราไม่สามารถมองเห็นนิสิตได้โดยตรง มีปัญหาอินเทอร์เน็ตหลุดบ้าง ทำให้ต้องแก้ปัญหาหน้างานอยู่บ่อยครั้ง อาจารย์พยายามทำให้การสอบเป็นธรรมกับนิสิตทุกคนมากที่สุด ถ้ามีจุดไหนที่อุดรูรั่วได้ก็จะทำ ทั้งในเรื่องเครื่องมือและทางเลือกของการสอบวัดผลที่เหมาะสม” ผศ.สพ.ญ.ภาวนา กล่าว สำหรับวิธีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ อาจารย์ภาวนาเลือกใช้วิธีทำข้อตกลงกับนิสิตในรายวิชาที่รับผิดชอบก่อน หลังจากนั้นนิสิตจะต้องเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ที่อาจารย์ผลิตขึ้น โดยอาจารย์จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำและตอบคำถามต่างๆ เมื่อมีปัญหา โดยสื่อสารผ่านกรุ๊ปไลน์ ซึ่งนิสิตสามารถเข้าถึงตัวอาจารย์ได้โดยตรง ช่วยให้อาจารย์สามารถแก้ปัญหาให้นิสิตได้อย่างรวดเร็ว กรณีเช่นนี้ถ้าอาจารย์มีการตกลงกับนิสิตล่วงหน้า และสื่อสารให้ชัดเจนตั้งแต่แรก ปัญหาเรื่องภาระงานหรือการบ้านน่าจะน้อยลง รวมไปถึงฝ่ายวิชาการของคณะจะต้องวางแผนประสานงานกับอาจารย์ในแต่ละรายวิชา เพื่อการจัดการอย่างเหมาะสม ทั้งในเรื่องของการเรียน การสั่งงาน และการสอบไม่ให้ชนกัน ด้านเสียงสะท้อนจากนิสิตซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเรียนออนไลน์ พศิน หวังไพบูลย์ นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของการใช้งานและการเข้าถึงการเรียนในรูปแบบออนไลน์ เพราะตนยังอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีความสะดวก แต่จะมีปัญหาในเรื่องของการบ้านหรือภาระงานที่มากขึ้นกว่าเดิมและการสื่อสารกับครอบครัวเป็นประเด็นหลัก “พอกลับมาเรียนอยู่ที่บ้าน ปัญหาที่เจอคือเรื่องของการสื่อสารกับคนในครอบครัว เพราะในสายตาของเขาจะดูเหมือนเราว่าง ไม่ได้ช่วยเขาทำอะไร แต่จริงๆ แล้วเรายังต้องเรียนเหมือนเดิม ใช้ระยะเวลาในการเรียนเท่าเดิมกับการไปเรียนที่มหาวิทยาลัย ก็ต้องมีการปรับความเข้าใจกันในช่วงแรกๆ ทุกวันนี้ก็จะบอกทางบ้านว่าในแต่ละวันมีการเรียนอะไรบ้าง” พศินกล่าว ในภาพรวมแล้ว พศินมองว่าภาระงานในหลายวิชาที่อาจารย์มอบหมายให้ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม แต่ในบางวิชาอาจารย์ผู้สอนก็สั่งงานเยอะกว่าที่เคยเรียนปกติ อยากให้อาจารย์นึกถึงในมุมของนิสิตที่จะต้องแบ่งเวลาในการเรียนและทำงานอื่นๆด้วย รวมทั้งพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมของการเรียนที่บ้านที่ทำให้ขาดสมาธิได้ง่ายมากกว่าการเรียนในชั้นเรียนจริงๆ ทำให้การเรียน การทำแบบฝึกหัด หรืองานในแต่ละ session ต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าปกติ หรือบางวิชาที่ยกเลิกการสอบไปก็จะมาหนักที่งานที่มอบหมายให้ระหว่างเรียนแทน ซึ่งเป็นภาระงานที่ใช้เวลามากกว่าการทำข้อสอบ ทั้งนี้นิสิตแต่ละคนก็มีรายวิชาที่ต้องเรียนและการบ้านที่ต้องทำมากกว่าหนึ่งรายวิชาในแต่ละสัปดาห์ ถ้าเป็นไปได้อยากให้อาจารย์สั่งงานอาทิตย์เว้นอาทิตย์ เพื่อช่วยนิสิตในอีกทางหนึ่ง การสอบวัดผลออนไลน์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พศินกังวลและอยากให้ช่วยกันคิดแก้ปัญหาโดยการกำหนดรูปแบบที่มีความเหมาะสมเพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีที่สุด และไม่มีปัญหาเรื่องของความโปร่งใส ส่วนเรื่องของค่าเล่าเรียนและค่าบำรุงการศึกษาที่กำลังเป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจนั้น ตนมองว่าหากมหาวิทยาลัยสามารถจัดสรรคืนให้ได้บางส่วนก็จะเป็นการดี เพราะมีนิสิตจำนวนไม่น้อยที่ครอบครัวต้องประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในช่วง COVID-19 ต้องอยู่ในบ้านและไม่มีรายได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือนิสิตได้มาก นฤภร เชี่ยวชลาลัย นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เล่าถึงการจัดการชีวิตส่วนตัวและการเรียนในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ว่า ต้องจัดตารางงานในทุกๆ วันให้ดี และพยายามทำให้ได้ตามตารางนั้น ซึ่งปกติตนก็เรียนย้อนหลังในคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว จึงไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นมีทั้งมาจากตัวเอง และปัจจัยอื่นๆ เช่น ความตั้งใจในการเรียนน้อย มีสมาธิจดจ่อได้ยาก และปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีการเก็บคะแนนตามที่อาจารย์กำหนด ซึ่งมีทั้งที่วิชาที่ปริมาณงานเหมาะสมแล้วและปริมาณงานมากเกินไป บางวิชามีลักษณะเป็นอาจารย์แยกกันสอน แยกกันสอบ ซึ่งอาจเกิดความสับสน ในส่วนของการให้คะแนนได้ วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นในการเรียนออนไลน์ของนฤภร คือตั้งสติ พยายามจดและจัดตารางการทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่ให้งานค้าง อยากให้อาจารย์สื่อสารกับนิสิตอย่างถูกต้องครบถ้วน และพิจารณาถึงผลสัมฤทธิ์ต่อนิสิตด้วย “มาตรการ Social Distancing ทำให้ไม่สามารถเจอเพื่อนได้ ที่ผ่านมาจะโทรคุยกับเพื่อนๆ ทุกวัน คิดว่ามหาวิทยาลัยพยายามช่วยเหลือนิสิตอย่างเต็มที่ในสถานการณ์เช่นนี้แล้ว แต่ก็ยังมีบางเรื่องที่ยังไม่ได้คำตอบที่แน่ชัด เช่น เรื่องการคืนค่าเทอมบางส่วนแก่นิสิต โดยส่วนตัวคิดว่าการที่เราไม่ได้ไปเรียนจริงๆ ทำให้เสียโอกาสในการทำสิ่งต่างๆ เยอะมาก ทั้งการทำ Lab สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เราไม่ได้ไปใช้เหมือนเดิม มหาวิทยาลัยก็อาจพิจารณาคืนส่วนต่างตรงนี้แก่นิสิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีค่ะ” นฤภร กล่าว ในส่วนของนักจิตวิทยาการปรึกษาซึ่งดูแลให้คำปรึกษานิสิตโดยตรง ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับความวิตกกังวลต่อการเรียนการสอนแบบออนไลน์ที่เกิดขึ้นกับคณาจารย์ นิสิต และผู้ปกครองในขณะนี้ โดยกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันกับอาจารย์และนิสิต ทุกคนมุ่งสู่รูปแบบออนไลน์กันอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้เตรียมตัวและเตรียมใจกันมาก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นคือทั้งนิสิต อาจารย์ และผู้ปกครองจึงเกิดความเครียด สิ่งที่เห็นได้ชัดสำหรับนิสิตจุฬาฯ คือความใส่ใจเต็มที่กับเรื่องการเรียน แต่ก็มาพร้อมกับความกดดันในเรื่องของคะแนนและการสอบด้วย ทุกอย่างประดังเข้ามาที่นิสิต ความกังวลจึงค่อยๆ ขยายใหญ่ ยังไม่รวมกับสภาพสังคมภายนอก ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ COVID-19 อยากให้อาจารย์และผู้ปกครองเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ความตั้งใจของนิสิตที่มีมาโดยตลอดเกิดความคาดหวังที่สูงจนอาจสั่นคลอนได้ แม้มหาวิทยาลัยจะมีมาตรการรับมือ เตรียมเทคโนโลยีและช่องทางอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้ แต่คำถามในใจของนิสิตที่ยังคงมีอยู่ก็คือความรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถทำพลาดได้ “ในสถานการณ์เช่นนี้ วิธีที่ดีที่สุดคือการสื่อสารกับนิสิต เมื่อมีความกังวลเรื่องใดขอให้นิสิตพูดออกมา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสอบอยู่แล้วอินเทอร์เน็ตหลุดจะทำอย่างไร ดีกว่าปล่อยให้ความกังวลมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เชื่อว่าอาจารย์ทุกท่านตระหนักเรื่องนี้ แต่ถ้านิสิตไม่สื่อสารและอยู่กับความกังวลไปเรื่อยๆ มันจะไม่มีทางออก” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว ในส่วนของอาจารย์ ถ้านิสิตไม่กล้าถาม อาจารย์ก็ควรถามนิสิตแทน ปกติการสอนเรามักจะมุ่งไปที่เนื้อหาเป็นหลัก แต่ในสถานการณ์แบบนี้อยากให้อาจารย์ชะลอความเร็วลง ก่อนที่จะเริ่มคลาสควรมีการซักถามนิสิต เปิดโอกาสให้นิสิตได้สื่อสารถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเขา ให้ความมั่นใจกับเขาว่าเราพร้อมจะดูแลและเข้าใจนิสิตทุกคน และช่วยกันหาทางออกว่าเราจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร ด้านพ่อแม่ ผู้ปกครองสิ่งที่ทำได้คือการประคับประคองและให้เวลาเขา อาจจะเข้าไปมีส่วนช่วยในเรื่องการจัดตารางชีวิต ดูแลอยู่ห่างๆ อย่าเข้าไปมีส่วนร่วมมาก เพราะจะเป็นการเพิ่มความกดดันให้กับนิสิต เมื่อนิสิตอยู่หน้าคอมหรือกำลังเรียนอยู่ ควรให้พื้นที่ให้เขาตั้งมั่นกับการเรียน ถ้านิสิตมีความไม่สบายใจ ผู้ปกครองอาจจะหาจังหวะถามไถ่ เมื่อสังเกตเห็นว่าเขาหมกมุ่นหรือกังวลใจเรื่องการเรียนอยู่ตลอดเวลาอาจจะชักชวนให้เขาพักผ่อนบ้าง หรือให้กำลังใจโดยไม่กดดัน “ลักษณะการเรียนที่เป็นออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นการผสมผสานทั้งการเรียนผ่านหน้าจอและการลงมือทำ ซึ่งจะเป็นวิธีที่ตรวจสอบได้ว่าเด็กมีความเข้าใจบทเรียนจริงๆ เมื่อลงมือทำก็จะมีภาระงานเพิ่มขึ้นพร้อมกับความกังวลใจ สิ่งที่จะช่วยนิสิตได้จริงๆ คือการจัดการชีวิตให้เป็นระบบ จะช่วยให้สามารถจัดการกับความกังวลใจได้ดีขึ้น นิสิตต้องตั้งใจเรียนเหมือนกับอยู่ในชั้นเรียนจริงๆ ไม่วอกแวกไปทำอะไรอย่างอื่น ถ้าทำแบบนี้ได้ จะทำให้มีเวลาในการเรียนที่ได้คุณภาพ การควบคุมตัวเองเป็นสิ่งที่ยาก แต่ถ้าเราไปคุยกับเพื่อน ไปเล่นเกมหรือทำอย่างอื่น นิสิตอาจจะคิดว่าเป็นการพักจากเรื่องเครียดที่อยู่ตรงหน้า แต่จริงๆ แล้วมันเป็นการหนีหรือหลีกเลี่ยงปัญหา เมื่อถึงเวลาพักที่เรากำหนดเอาไว้ก็ต้องพักจริงๆ เราต้องมีช่วงเวลาสำหรับการพักผ่อนและดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมด้วย” ผศ.ดร.ณัฐสุดากล่าว สำหรับปัญหาที่เกิดจากภาระงานที่มากขึ้น และสถานการณ์ของโรคนี้ที่อาจทำให้นิสิตบางคนรู้สึกโดดเดี่ยวและตัดขาดจากการปฏิสัมพันธ์และกิจกรรมที่เคยทำนั้น ผศ.ดร.ณัฐสุดา แนะนำว่าอยากให้มองเรื่องของ Social Distancing เป็นเรื่องของ Physical Distancing เท่านั้น คือห่างกันเฉพาะทางกายแต่ไม่ใช่ทางใจ เพราะถ้าหากนิสิตโดดเดี่ยวตัวเองจะยิ่งส่งผลต่อสุขภาพทางจิตใจ และอาจนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ได้ นิสิตหลายๆ คนที่ต้องอยู่ลำพังคนเดียว สิ่งที่ต้องทำก็คือการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนกับครอบครัว อย่าแยกตัวเองออกมาอย่างสิ้นเชิง หาเวลาพักผ่อน พยายามมองหาเรื่องดีๆ ในชีวิต ลดการเสพสื่อที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล “สำหรับอาจารย์ แม้ภาระงานจะมากขึ้นกว่าการเรียนการสอนปกติ แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เรายังสามารถที่จะจัดการได้และมีความสุขกับสิ่งที่ต้องทำนั่นคือเราต้องเห็นความหมายของสิ่งที่เราทำว่ามันเกิดคุณค่าตัวเราและกับคนอื่น อย่ามองแต่ว่าเราจะได้อะไร แต่มองว่าเราจะให้อะไรและเอื้ออะไรให้กับสังคมทำให้เกิดความสุขในการทำงานนั้นๆ” ผศ.ดร.ณัฐสุดากล่าวทิ้งท้าย นิสิต คณาจารย์และบุคลากรจุฬาฯ ที่ต้องการความช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือและคำปรึกษาจากหน่วยงานต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้ CU Student Corner โทร.09-3936-9255, 06-4249-5596หน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต จุฬาฯ (Chula Student Wellness) โทร.08-5042-2626 นัดหมายออนไลน์ได้ที่ wellness.chula.ac.thศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ (Center for Psychological Wellness) โทร. 09-9442-0996, LINE ID: chulacare, E-mail: contactchulacare@gmail.comสายด่วน COVID-19 ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ โทร. 08-0441-9041

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ