ช้างไทยเข้าสู่ภาวะอดอยากจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ข่าวทั่วไป Tuesday April 21, 2020 16:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--พีอาร์ โปร เอเชีย ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก และมีจำนวนผู้ติดเชื้อแล้วกว่าสองล้านคน รวมถึงมีผู้เสียชีวิตอีกนับแสนคน นอกจากนั้นการสูญเสียในครั้งนี้ยังส่งผลวิกฤติในด้านสภาพคล่องทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดคือ ธุรกิจท่องเที่ยว ที่ต้องหยุดให้บริการหรือชะลอตัวเพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งไม่ได้มีเพียงคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในครั้งนี้ หากแต่ยังรวมไปถึงสัตว์ป่าด้วยเช่นกัน ธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจปางช้างกว่า 85 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันหลายแห่งได้ปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานแล้วกว่า 5,000 คน ส่วนปางช้างที่เหลือกำลังดิ้นรนเพื่อให้ช้าง รวมถึงกิจการสามารถอยู่รอดต่อไปได้ และที่สำคัญปางช้างทุกแห่งกำลังประสบปัญหาขาดแคลนรายได้ที่จะนำไปซื้ออาหารและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงช้าง ซึ่งล้วนส่งผลโดยตรงต่อช้างที่อาศัยอยู่ปางช้างเป็นอย่างมาก ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนช้างที่อาศัยอยู่ในปางช้างเชิงท่องเที่ยว ประมาณ 2,500 เชือก ยังไม่นับรวมถึงปางช้าง ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่มีการนำช้างออกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีการขี่หลังช้าง หรือการลากซุงมายังพื้นที่ที่ให้อิสระกับช้างได้อย่างเต็มที่ ซึ่งมีปางในลักษณะแบบนี้มีอยู่ 6 แห่งทั่วประเทศไทย ช้างที่อยู่ในปางท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์นี้มีอยู่จำนวนเกือบ 60 เชือก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลพิเศษ เพราะส่วนใหญ่เป็นช้างที่มีโรคประจำตัว หรือมีอายุค่อนข้างมาก ไม่สามารถกลับไปทำงานหนักได้เหมือนก่อน ช้างวัยแก่บางเชือกจำเป็นต้องได้รับอาหารเสริมเพื่อช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายด้วย แต่ในภาวะเช่นนี้บวกกับสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งที่สุด ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติลดลง หากขาดเงินทุนเข้ามาช่วยเหลือด้านอาหารสำหรับช้างแล้ว พวกมันสามารถอดตายได้ โดยสิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลช้างคือ อาหาร เพราะในแต่ละวันช้างต้องการอาหารประมาณ 10% ของน้ำหนักตัว โดยมีอาหารหลัก ได้แก่ หญ้า ใบไม้ ผัก และผลไม้ ซึ่งต้องการประมาณ 400 กิโลกรัมต่อวัน นอกจากนี้ยังมีค่าขนส่งอาหาร และของใช้อื่นๆ อาทิ ยารักษาโรค ซึ่งช้างบางตัวยังต้องให้อาหารเสริมเนื่องจากร่างกายไม่แข็งแรง และหากปราศจากการช่วยเหลือ มีความเสี่ยงสูงมากที่ช้างเลี้ยงเหล่านี้จะขาดสารอาหารและอดตายในที่สุด ชเร สังข์ขาว เจ้าของปางช้างเป็นมิตรกับช้าง Following Giants จังหวัดกระบี่ ที่เพิ่งเปิดได้เพียงไม่ถึงปี ก็ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นกัน โดยเขากล่าวว่า “ปัญหาหลักคือเรื่องอาหารที่ต้องให้ช้าง ที่นี่แม้เราอาจมีแหล่งอาหารธรรมชาติก็จริง แต่ตอนนี้เป็นหน้าแล้ง ช้างไม่สามารถหาอาหารตามธรรมชาติเองได้ ทำให้เราต้องซื้ออาหารที่เหมาะสม เช่น กล้วยหรือสับปะรด จากข้างนอก ปัจจุบันช้างในปางช้างมีทั้งหมด 3 เชือก ซึ่งใช้งบประมาณในการดูแล 50,000 บาทต่อเชือกและต่อเดือน โดยช้างแต่ละเชือกล้วนอยู่กับปางช้างมานานเกิน 12 ปี บางตัวมีอายุ 60 ปีซึ่งแก่มากและต้องได้รับอาหารเสริมเป็นพิเศษ ซึ่งนั้นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราลำบากมาก เพราะตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย” ขณะเดียวกัน ปางช้าง ChangChill ซึ่งเป็นปางช้างที่เป็นมิตรกับช้างแห่งแรกในประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่มีสภาวะชะลอตัวเช่นเดียวกัน โดย ศุภกร ตานะเศรษฐ เจ้าของปางช้างชิล กล่าวถึงสิ่งที่เขากังวลมากที่สุดในตอนนี้ว่า “ตอนนี้เราจัดการแก้ปัญหาเบื้องต้นโดยการขอลดเงินเดือนพนักงานและควาญช้างลง 70% แต่สิ่งที่เรากังวลมากที่สุด คือส่วนของอาหารช้างและค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลช้าง ตลอดจนการวางแผนว่าจะต้องทำอย่างไรให้ผ่านช่วงวิกฤตไปได้ โดยไม่กระทบกับชีวิตช้าง” เนื่องจากขณะนี้ เจ้าของปางช้างกำลังขาดแคลนรายได้ที่จะนำไปซื้ออาหารและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงช้าง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ซึ่งในขณะนี้ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกสากล ได้ทำการช่วยเหลือเบื้องต้นในส่วนที่เป็นปัญหาเร่งด่วนด้านอาหารและยาที่จำเป็นต่อช้างและควาญช้างในปางช้าง 6 ปางช้าง อย่างไรก็ตาม ทางปางช้างเองก็ยังต้องความการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง และมีสองปางช้างที่ท่านสามารถช่วยเหลือได้โดยตรง โดยโอนเงินเข้าบัญชีของปางข้างที่เป็นมิตรได้ที่ปางช้าง Following Giants หรือ Chang Chill ปางช้าง Following Giants ธ. กสิกรไทย เลขที่บัญชี 3-39221-581-5 ชื่อบัญชี ชเร สังข์ขาวปางช้าง ChangChill ธ. ทหารไทย เลขที่บัญชี 621-2-38088-2 ชื่อบัญชี ศุภกร ตานะเศรษฐ
แท็ก โควิด-19   ช้าง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ