กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--ชมฉวีวรรณ
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEPได้ออกมาเคลื่อนไหวแล้วว่า หลัง สถานการณ์ไวรัสโคโรน่า (Covid-19) คลี่คลาย เตรียมพบกับวิกฤตการณ์ของขยะ โดยเฉพาะขยะทางการแพทย์ที่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างแน่นอน ทำให้ขบวนการนักอนุรักษ์กำลังหนักใจว่าหากหมดเชื้อไวรัสตัวนี้แล้ว ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นจะมีวิธีการจัดการอย่างไร หน่วยงานต่าง ๆ จะมีวิธีรับมือที่จะช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยเฉพาะขยะทางการแพทย์ อาทิ ขวดแอลฮอลล์ ขวดเจลแอลฮอลล์ ขวดน้ำเกลือ ถุงใส่หน้ากากอนามัย ฯลฯ อีกมากมาย และเมื่อเร็วๆ นี้ หลายคนอาจจะเห็นข่าวมิวเซียมสยาม จับมือ องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม(Earth Day) และภาคีเครือข่าย 11แห่ง เปิดตัวโครงการ “ขยะบทที่ 2” โดยมีเป้าหมายคือสร้างความตระหนักให้คนไทยเรียนรู้การจัดการขยะอย่างถูกวิธี และลดจำนวนขยะที่มีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งวันนี้ (22เมษายน) ตรงกับวันคุ้มครองโลก จึงเป็นเรื่องดีที่มิวเซียมสยามดำเนินการ Kick Off โครงการขยะบทที่ 2พร้อมเชิญชวนทุกคนที่กักตัวอยู่บ้านในช่วงนี้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้วิกฤตการณ์ครั้งนี้ โดยเริ่มต้นคัดแยกขยะ และเตรียมนำมาบริจาคได้ที่มิวเซียมสยาม ซึ่งเป็นตัวกลางในการนำไปส่งต่อให้กับภาคีเครือข่ายเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่อไป
นายราเมศ พรหมเย็นผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า “โครงการขยะบทที่ 2เป็นการร่วมมือครั้งสำคัญกับองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม(Earth Day) องค์กรที่ดำเนินการด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ ซึ่งที่มาของคำว่า ขยะบทที่2อมาจากเป้าหมายที่มองเห็นร่วมกันว่า ขยะที่ทุกคนทิ้ง แท้จริงแล้วสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ต้องรู้วิธีการจัดการขยะที่ถูกต้อง และมิวเซียมสยามในฐานะแหล่งการเรียนรู้สาธารณะ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดวิกฤตการณ์ขยะที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ โดยเปิดรับบริจาคขวดพลาสติกที่ใช้แล้วเพื่อไปส่งต่อให้กับภาคีเครือข่าย อาทิ วัดจากแดง ในการแปรรูปขวดพลาสติกเป็นจีวรพระเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมิวเซียมสยามสร้างพื้นที่การเรียนรู้และถังขยะความรู้เพื่อให้ทุกคนเรียนรู้วิธีการจัดการขยะอย่างถูกวิธี โดยเชื่อว่า หากมีการจัดการขยะที่ถูกต้อง วิกฤตการณ์ขยะที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ก็จะลดน้อยลง สิ่งแวดล้อมก็จะได้รับผลกระทบน้อยลงเช่นกัน”
สำหรับโครงการขยะบทที่ 2 ทางมิวเซียมสยาม จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ โดยให้ความรู้เรื่องของขยะ ในหลากหลายรูปแบบ คือการจัดตั้งถังขยะความรู้เพื่อให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะและจัดการขยะแต่ละประเภทการรณรงค์ให้ทุกคนลดการใช้วัสดุ บรรจุภัณฑ์แบบครั้งเดียว รวมถึงเชิญชวนทุกคนร่วมบริจาคขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อภายใต้แนวคิดYou bring I give การรับบริจาคขยะประเภทขวดพลาสติก และกระดาษสลิปใบเสร็จ เพื่อส่งต่อให้องค์กรเครือข่าย เช่นPrecious Plasticวัดจากแดง และ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง ในการนำขยะมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ เช่น ของใช้ในบ้าน จีวรพระ และสมุดเขียนบันทึก เป็นต้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนและนอกจากนี้มิวเซียมสยามยังเอาใจขบวนการนักอนุรักษ์กับการเปิดตัวสินค้าภายใต้แบรนด์Muse Shop ของมิวเซียมสยาม กับคอลเลกชั่นใหม่ที่มีชื่อว่า มี.มา.เอง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ต่อได้อย่างคุ้มค่าที่สุด
คุณแคทลีน โรเจอร์ส ประธานเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมEarth Dayกล่าวว่า “ในปีนี้ Earth Dayครบรอบ 50 ปี การร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอย่างมิวเซียมสยามถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะที่ผ่านมามิวเซียมสยามก็พยายามหากิจกรรมที่จะส่งเสริมและกระตุ้นให้คนไทยหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และสำหรับโครงการขยะบทที่ 2 ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ Earth Dayที่มุ่งหวังให้คนไทยเห็นความสำคัญของขยะและเรียนรู้วิธีการจัดการขยะอย่างถูกวิธี เผื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะ ที่สำคัญโครงการนี้จะประกาศดำเนินการพร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 22 เมษายน 2563 ในโอกาสครบรอบ 50ปีEarth Dayและวันคุ้มครองโลก
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ที่หลายคนอยู่บ้าน มิวเซียมสยามขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกัน คัดแยกขยะประเภทขวดพลาสติก ฝาขวด สลิปใบเสร็จ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดวิกฤตการณ์ขยะและทำให้ขยะที่ไร้ค่า กลับมามีประโยชน์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยสามารถนำมาบริจาคได้ที่มิวเซียมสยามตั้งวันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป
ทั้งนี้ มิวเซียมสยาม ตั้งเป้าว่า โครงการขยะบทที่ 2 จากการร่วมมือกับองค์การด้านสิ่งแวดล้อมนานาชาติและ 11ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย SCG, Precious Plastic,วัดจากแดง,บริษัท Toll Way, SIAM SERPENTARIUM,เดอะศาลายา ไทยโซน,พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน,พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น,พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดจำนวนขยะและการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์แบบครั้งเดียวและจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับบุคลากรภายในองค์กรร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะเผยแพร่ไปสู่ภายนอกเพื่อปลูกฝังให้คนไทยร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประเทศสีเขียว
#museumsiam
#ให้ทุกการเรียนรู้สนุกกว่าที่คิด