กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กรมพัฒนาที่ดิน มีภารกิจในการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินได้อย่างเหมาะสม สามารถเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร โดยการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน การแก้ไขดินที่มีปัญหา ในการทำเกษตรเพื่อการพัฒนาภาคการเกษตรเป็นไปอย่างยั่งยืน
นายสถาพร ใจอารีย์ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เชื่อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สถานการณ์ภัยแล้งด้านการเกษตร กรมพัฒนาดินซึ่งมีภารกิจสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งและเกษตรกรที่กลับคืนถิ่นเพื่อทำการเกษตร จึงมีแนวทางการสนับสนุนการสร้างอาชีพเกษตรกรรมที่มั่นคงให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ โดยสนับสนุนด้านการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อทำการเกษตรมีความปลอดภัยด้านอาหาร อนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนฟื้นฟูทรัพยากรที่ดินที่มีปัญหาและเสื่อมโทรม ให้มีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร และแก้ไขปัญหาภัยแล้งและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรและการผลิตสินค้าเกษตรโดยรวมของประเทศ โดยเน้นการบริหารจัดการเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย
สนับสนุนการก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน (ขนาด 1,260 ลบ.ม.) เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ทำเกษตรกรรมนอกเขตชลประทาน และในพื้นที่ที่ระบบส่งน้ำไปไม่ถึง บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ สามารถลดความเสี่ยงการขาดน้ำได้ในระยะฝนทิ้งช่วง และเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี สำหรับในปี 2563 มีเป้าหมายการดำเนินงานตามแผน 40,000 บ่อ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเกษตรกรแจ้งความประสงค์ต้องการแหล่งน้ำในไร่นาเป็นจำนวนมาก กรมฯ จึงได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากงบปกติ เป็นจำนวน 5,512 บ่อ รวมเป็นเป้าหมายดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้กับเกษตร จำนวน 45,512 บ่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยการปรับสภาพพื้นที่และปรับรูปแปลงนา เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในโครงการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชในพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน มีเป้าหมาย จำนวน 100,000 ไร่ รวมทั้งในพื้นที่ปลูกพืชเหมาะสมตามสมรรถนะของดินในพื้นที่ จำนวน 2,774,508 ไร่ มีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินให้กับเกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตจะทำให้เกษตรกรมีรายได้และสามารถพึ่งตนเองได้ สามารถขยายผลสู่การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและลดค่าใช้จ่ายได้ ตลอดจนนำไปใช้ในการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชในพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นการปลูกพืชผสมผสานตามนโยบาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในโครงการ Zoning by Agri-mapการปรับปรุงดินด้วยพืชปุ๋ยสดและปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน สนับสนุนการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน ด้วยปัจจัยการผลิตต่าง ๆ มีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ดินเปรี้ยว ดินเค็ม และดินกรด 104,577 ไร่ พัฒนาพื้นที่เฉพาะ (พื้นที่ทุ่งกุลา/ทุ่งสัมฤทธิ์/ทุ่งหมาหิว/พื้นที่นาร้าง) 17,500 ไร่ และพื้นที่มีศักยภาพ 358,692 ไร่ รวมพื้นที่ดำเนินการ 480,769 ล้านไร่สนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยและการทำเกษตรอินทรีย์ สนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรให้กับเกษตรกร จำนวน 100,000 ราย (ครอบคลุมพื้นที่ จำนวน 1 ล้านไร่) โดยสนับสนุนการใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้เองในครัวเรือน และขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) เป็นการปรับเปลี่ยนการผลิตของเกษตรกรให้เข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ จำนวน 10,000 ไร่ จากแนวทางการดำเนินงานของกรมพัฒนาที่ดินดังกล่าวสามารถสนับสนุนการสร้างอาชีพเกษตรกรรมที่มั่นคงให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ เป็นการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร ทำให้สามารถผลิตอาหารที่มีความหลากหลาย มีคุณค่าทางโภชนาการสามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างเพียงพอ และมีความปลอดภัยต่อชีวิต เพื่อนำไปบริโภคในครัวเรือนและส่วนที่เหลือก็สามารถจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ ดังนั้น ดินดีจึงเป็นพื้นฐานของชีวิต สามารถผลิตอาหารปลอดภัยเกษตรอินทรีย์ ส่งผลให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่งผลให้มีรายได้และสามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับเกษตรกร อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างครอบครัวให้มีความอบอุ่น และชุมชนให้มีความเข้มแข็งอีกด้วย
หากเกษตรกรท่านใดสนใจโครงการดังกล่าว สามารถติดต่อได้ที่ กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดและหมอดินอาสาทั่วประเทศ