กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน)
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT จัดประชุมด่วนกับสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ กรุยทางนำ “อัญมณี” มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจในการขอสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับผลกระทบทางภาวะเศรษฐกิจซบเซาจากวิกฤติไวรัสโควิด-19
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก ซึ่งทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริง (หลังหักทองคำฯ) ลดลง เนื่องจากไม่สามารถส่งออกไปประเทศคู่ค้าได้อย่างปกติ รวมถึงไม่สามารถเปิดรับลูกค้าในต่างประเทศได้ นอกจากนี้ การที่ไม่มีนักท่องเที่ยวก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการค้าปลีก ดังนั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน จึงสั่งการให้ GIT ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ประสานไปยังภาคเอกชน สมาคมต่างๆ ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อสรุปสถานการณ์ และ ข้อเสนอแนะในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ
อัญมณีและเครื่องประดับ หาแนวทางและมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัส COVID-19 พร้อมทั้งประสานไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่ออนุเคราะห์จัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งได้ดำเนินการครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน
ที่ผ่านมา ร่วมกับ สมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงิน และ ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของไทย เพื่อหารือแนวทางในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ และความช่วยเหลือด้านการเงินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมเสนอแนวทางในการนำ “อัญมณี” ซึ่งถือได้ว่า เป็น ทรัพย์สินที่มีมูลค่า มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจในการขอสินเชื่อให้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมทั้งการให้สินเชื่อ SOFT LOAN อย่างเร่งด่วน หวังช่วยเหลือผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่โดนผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ”
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT กล่าวเสริมว่า สถาบันฯ ได้ชี้แจงว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นสินค้าสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศได้สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศในบรรดาสินค้าส่งออกเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด เมื่อรวมกับมูลค่าการค้าภายในประเทศด้วยแล้วก่อให้เกิดเม็ดเงินถึงปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างแรงงานกว่า 1 ล้านคน ตลอดห่วงโซ่อุปทาน นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเข็มแข็ง และมีความสามารถในการชำระหนี้สูง สำหรับในวิกฤติครั้งนี้ ทำให้ผู้ประกอบการอัญมณีส่วนใหญ่ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้นการให้สินเชื่อต่างๆ แก่บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจะช่วยให้บริษัทเหล่านี้ดำเนินกิจการอยู่ได้ ซึ่งหากบริษัทเหล่านี้ปิดกิจการ ก็จะกระทบกับแรงงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก
สำหรับการใช้อัญมณีมาใช้เป็นหลักประกันนั้น เนื่องจาก “อัญมณี” เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ทั้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ดังนั้น หากอัญมณีและเครื่องประดับได้รับการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพอย่างถูกต้อง จากสถาบันที่น่าเชื่อถือ และมีการประเมินมูลค่าอัญมณีอย่างเป็นธรรมโดยผู้เชี่ยวชาญ ก็จะสามารถนำข้อมูลนี้ไปประกอบการพิจารณาสินเชื่อสำหรับธนาคารได้ง่ายขึ้น
อนึ่ง สถาบันจะมีการจัดประชุมหารืออย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับรายละเอียดในเรื่องนี้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับสถาบันการเงินต่างๆ อีกครั้ง ในวันที่ 24 เมษายน 2563