กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ(PETROMAT)ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ผลิตเครื่อง Ultra We: กล่องห่วงใย ไร้เชื้อด้วยยูวีส่งมอบให้โรงพยาบาลสำหรับใช้ฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื้อโรคต่างๆ บนอุปกรณ์และเครื่องมือของบุคลากรทางการแพทย์ โดยนำร่องมอบให้โรงพยาบาลราชวิถีเป็นแห่งแรก
เครื่อง Ultra We: กล่องห่วงใย ไร้เชื้อด้วยยูวี มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคบนอุปกรณ์ต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย เครื่องมือเครื่องใช้ส่วนตัว ฯลฯ รูปทรงของเครื่อง Ultra Weเป็นกระติกขนาดความจุ 20 ลิตร พร้อมหูหิ้ว พกพาได้สะดวก ภายในกล่องมีหลอดกำเนิดรังสีUVCที่ผ่านการทดสอบแล้ว ให้ความเข้มรังสี 26 ไมโครวัตต์ต่อตารางเซนติเมตรจำนวน 2 หลอด ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อโรคชนิดต่างๆ รวมทั้งเชื้อไวรัสได้โดยใช้ระยะเวลา 30 นาทีส่วนด้านนอกมีสวิตช์เปิดปิดและนาฬิกาตั้งเวลาทำงานได้สูงสุด 90 นาที พร้อมระบบความปลอดภัยที่ควบคุมให้เครื่องทำงานเมื่อฝากล่องปิดสนิทแล้วเท่านั้น โดยได้รับการรับรองประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวด้วยรังสียูวี ตามมาตรฐาน AS1807.23–2000 จากบริษัท เมกกะฟิล จำกัด
PETROMAT ซึ่งมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแกนนำ ได้ร่วมกับ ผศ.ดร.เมธี สายศรีหยุด และผศ.ดร.ชลิดา เนียมนุ้ยภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมด้วยมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในการผลิตUltra We: กล่องห่วงใย ไร้เชื้อด้วยยูวีทั้งนี้รศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะรองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยี ปิโตรเคมีและวัสดุ ได้ส่งมอบเครื่องมือดังกล่าวแก่ผศ.นพ.สุเพชร ทุ้ยแปผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี และคณะฯเมื่อวันศุกร์ที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อขอบคุณในความทุ่มเทและความเสียสละของบุคลากรด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นตัวอย่างของการนำความรู้จากต่างสาขาวิชามาร่วมกันพัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในขณะนี้
ทั้งนี้โรงพยาบาลที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ(PETROMAT)โทร.08-5366-8935 Email: Rittidej.V@chula.ac.th