๑๑ มีนาคม วันคล้ายวันสถาปนากองเรือภาคที่ ๑ ทัพเรือภาคที่ ๒ และทัพเรือภาคที่ ๓

ข่าวทั่วไป Tuesday March 1, 2005 11:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
จากการที่ทะเลเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์อันประมาณค่ามิได้ ซึ่งประเทศต่าง ๆ ในโลก ตลอดจนในภูมิภาคแถบนี้ ได้เพิ่มความสนใจและแสวงหาผลประโยชน์จากทางทะเลมากขึ้น และการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชายฝั่งทะเลยาวถึง ๑,๕๐๐ ไมล์ หรือประมาณ ๒,๗๐๐ กิโลเมตร รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว พร้อมทั้งมอบให้กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพเรือเป็นองค์กรหลักในการรักษาอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ดังนั้น ในการดูแลความสงบเรียบร้อยของชาติทางทะเล กองทัพเรือจึงได้แบ่งพื้นที่และกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบในการปฏิบัติการทางทะเล ออกเป็น ๓ พื้นที่ปฏิบัติการ โดยจัดตั้งกองเรือภาคขึ้นเป็น ๓ กองเรือภาค โดยแต่ละภาคจะมีผู้บัญชาการกองเรือภาคเป็นผู้บัญชาการพื้นที่ กำหนดพื้นที่รับผิดชอบให้ กองเรือภาคที่ ๑ รับผิดชอบบริเวณอ่าวไทยตอนบน กองเรือภาคที่ ๒ รับผิดชอบพื้นที่อ่าวไทยตอนล่างลงไปจนถึงทะเลจีนใต้ ที่ไม่ใช่ทะเลอาณาเขตของประเทศอื่น และกองเรือภาคที่ ๓ รับผิดชอบพื้นที่ทะเลอันดามันทั้งหมด ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้อนุมัติให้กองทัพเรือจัดตั้งกองเรือภาคดังกล่าวขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๓๕ เป็นต้นมา โดยเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองเรือยุทธการ
ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๔๔ คณะกรรมการนโยบายกองทัพเรือ ได้มีมติให้กรมยุทธการทหารเรือพิจารณาปรับกองเรือภาคเป็น "ทัพเรือภาค" โดยยึดกรอบแนวความคิดตามหลักการ "การควบคุมบังคับบัญชาเป็นพื้นที่" โดยกำหนดให้ทุกหน่วยของกองทัพเรือในพื้นที่ขึ้นการบังคับบัญชาหรือขึ้นการควบคุมทางยุทธการกับทัพเรือภาค ซึ่งกองทัพเรือได้อนุมัติให้จัดตั้งทัพเรือภาคที่ ๒ และทัพเรือภาคที่ ๓ เป็นหน่วยอัตราเพื่อพลาง เพื่อทดลองการปฏิบัติงาน ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๗ เป็นต้นมา โดยให้เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองทัพเรือ
กองเรือภาคที่ ๑ ทัพเรือภาคที่ ๒ และทัพเรือภาคที่ ๓ มีภารกิจในการปฏิบัติการทางเรือเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติเมื่อมีภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ รักษาผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติทางทะเล และบริเวณชายฝั่งในพื้นที่รับผิดชอบ โดยมีขอบเขตความรับผิดชอบและหน้าที่ที่สำคัญ ได้แก่
- ควบคุมทะเลและขัดขวางการปฏิบัติการทางเรือของข้าศึก
- สนับสนุนและร่วมมือกับเหล่าทัพและส่วนราชการอื่นในการป้องกันประเทศ
- ป้องกันสิทธิและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
- ถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์และอารักขาบุคคลสำคัญ
- คุ้มครองและช่วยเหลือเรือประมงที่ได้รับภัยคุกคามจากฝ่ายตรงข้าม
- ป้องกันภัยคุกคามที่ไม่เปิดเผย เช่น การแทรกซึมทางทะเล การลักลอบส่งคนและยุทโธปกรณ์ขึ้นฝั่ง ตลอดจนต่อต้านการก่อการร้าย
- ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล และการลำเลียงทางทะเล
- ป้องกันการอพยพ หลบหนีเข้าเมืองทางทะเลป้องกันและปราบปรามการกระทำเยี่ยงโจรสลัด และการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศุลกากร การประมง และกฎหมายอื่น ๆ ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรือ
- ป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งป้องกันและขจัดมลพิษในทะเลและบริเวณชายฝั่ง และในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาหน่วย ทั้ง ๓ หน่วยนี้ ได้ประกอบพิธีทำบุญทางศาสนา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่กำลังพลของหน่วย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ