กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--กปร.
โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว จังหวัดพิษณุโลก จัดตั้งขึ้นด้วยเหตุผลทางด้านความมั่นคงตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาในบริเวณพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ และเลย ป่ามีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำน้ำหลายสาย เช่น ลำน้ำเหือง ลำน้ำภาค ฯลฯ ในอดีตมีการจัดตั้งหมู่บ้านยุทธศาสตร์ตามแนวชายแดนขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการป้องกันประเทศในลักษณะการต่อสู้แบบเบ็ดเสร็จ ช่วงที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) อยู่ในภาวะสงครามภายในประเทศ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีความห่วงใยพสกนิกรในพื้นที่นี้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพและพื้นที่ทำกินของราษฎร ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่จะบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร ทำให้ป่าเสื่อมโทรมและถูกทำลายเป็นจำนวนมาก พื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารมีจำนวนลดน้อยลง จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริขึ้นในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ณ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว เพื่อให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบ ๆ ได้เข้าร่วมโครงการฯซึ่งจัดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรปลอดภัย ส่งเสริมให้ราษฎรนำไปปฏิบัติในพื้นที่ทำกินของตนเอง โดยสถานีฯ ทำหน้าที่แนะนำให้ความรู้ในการปฏิบัติและจัดหาตลาดจำหน่ายสินค้าให้กับราษฎร
นายกองมา อินธวงศ์ษา เกษตรกรบ้านเทิดธาตุ ตำบลบ่อพาด อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ เผยว่า เมื่อก่อนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใช้พื้นที่ 15 ไร่ ที่ทางการจัดสรรให้ แต่มีค่าใช้จ่ายมากตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ ค่าเมล็ดพันธุ์ และค่าสารเคมี บางปีราคาผลผลิตตกต่ำก็ขาดทุน ต้องออกไปหางานทำด้วยการขายแรงงานรับจ้างทั่วไป หลังจากหันมาปลูกพืชแบบผสมผสานที่ทางโครงการสนับสนุนในพื้นที่ 15 ไร่ โดยปลูกองุ่น 2 งาน สำหรับอยู่อาศัย 1 งาน ขุดบ่อปลา 1 ไร่ เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ 1 งาน ปลูกเงาะ 5 ไร่ ปลูกกล้วย รอบ ๆ พื้นที่ร่วมกับไผ่ เพื่อเป็นแนวกันชนและป้องกันลม
โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา มีรายได้กว่า 100,000 บาท
“ปลูกข้าวโพดมีความลำบากมากเพราะต้องปีนเขาขึ้นไปเตรียมพื้นที่ซึ่งเป็นที่ลาดชัน ใช้แรงงานทั้งครอบครัวเมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวก็ต้องแบกหามลงมาเพื่อขาย เมื่อหันมาปลูกพืชแบบผสมผสานบริเวณใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไกล สามารถทำงานได้
ทุกวัน เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2558 จวบจนปี 2563 นี้ เข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว มีรายได้ตลอดทั้งปีและเหลือเก็บ” นายกองมา อินธวงศ์ษา กล่าว
ทางด้านนายวิธิวัตน์ มันกระโทก นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ที่เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนการเพาะปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ เผยว่า ในการส่งเสริมเกษตรกรในช่วงแรกมีการสำรวจและทำการวิเคราะห์พื้นที่ว่าจะสามารถใช้ทำอะไรได้บ้างในด้านการเพาะปลูก พบว่าการปลูกพืชเพื่อการท่องเที่ยวจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับตลาด เพราะพื้นที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวจากภูมิประเทศที่เอื้ออำนวย ทำให้มีผู้คนเดินทางขึ้นมาท่องเที่ยวตลอดทั้งปี
“ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มปลูกพืชผักในโรงเรือนแบบพืชอินทรีย์ มีผลผลิตออกมาประมาณ 1 ตัน ต่อสัปดาห์ 1 เดือนได้ 4 ตัน ประชาชนรายได้ประมาณ 1 แสนบาท ต่อเดือน จากความสำเร็จในเบื้องต้นทำให้มีหลายหมู่บ้านประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ จึงได้ขยายผลออกไป และส่วนงานราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้ามาร่วมด้วย เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง กรมปศุสัตว์ มีการจัดสร้างศูนย์เรียนรู้ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนที่สนใจมีแหล่งเรียนรู้เพื่อนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองต่อไปด้วย”