กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--กปร.
นับตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ประเทศจีนได้รายงานต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างเป็นทางการว่า พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสลึกลับจำนวนมากในเมืองอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของประเทศ ก่อนที่โรคดังกล่าวจะถูกระบุว่าเกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019-nCoV และได้รับการตั้งชื่อในภายหลังว่า “โควิด-19” (COVID-19) ซึ่งย่อมาจาก “coronavirus disease starting in 2019” หรือโรคไวรัสโคโรนาที่เริ่มต้นในปี 2019
ผ่านมาเพียงไม่กี่เดือนไวรัสดังกล่าวได้แพร่ระบาดไปเกือบทั่วทุกพื้นที่ของโลก จนคร่าชีวิตประชาชนไปแล้วกว่าแสนราย และมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกจากข้อมูลของศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเชิงระบบ (CSSE) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มที่ไม่มีทีท่าว่าวิกฤตครั้งนี้จะยุติลงในเร็ววัน
สำหรับประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน รัฐบาลจึงได้กำหนดมาตราการต่างๆ ออกมาเพื่อยับยั้งและลดการระบาดให้น้อยลงและจะหมดไปในที่สุด โดยในมาตราการเหล่านั้นส่วนหนึ่งได้เข้ามามีผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันของราษฎร
ถึงกระนั้นก็ตามนับเป็นความโชคดีของประเทศไทยอยู่ไม่น้อยที่ตลอดมาได้มีการวางแนวทางในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพที่อยู่บนพื้นฐานของการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต ด้วยประเทศไทยมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์สาขาอีกหลายแห่งทั่วประเทศ ที่มีการศึกษาวิจัยแนวทางในการประกอบอาชีพของราษฎรตามสภาพของภูมิศาสตร์และภูมิสังคม จึงนับเป็นฐานทางการดำรงชีวิตที่สำคัญของคนไทยในยามที่เกิดวิกฤติ ดังเช่นที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ ที่วันนี้ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ราษฎรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายสมชาย เชื้อจีน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรมีโอกาสเรียนรู้จากการสาธิต การฝึกอบรมการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ตามหลักวิชาการที่เหมาะสมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกษตรกรที่ยากจนและด้อยโอกาสในชนบท นอกจากจะได้รับความรู้แล้วยังจะได้รับปัจจัยการผลิต
ทางการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เป็นการเบื้องต้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตผลมากขึ้น เป็นการช่วยเสริมรายได้ของครอบครัวและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างเพียงพอ สามารถดำรงชีวิตประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ในท้องถิ่น ไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินที่อื่น
“ในช่วงนี้จะมีวัยแรงงานกลับมาอยู่บ้านมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการกลับมาใช้ชีวิตในชุมชนของราษฎรส่วนนี้ ด้วยการสนับสนุนให้น้อมนำแนวทางการทำเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารแบบพึ่งพาตนเอง ไม่เป็นภาระต่อรัฐบาล ที่สำคัญภูมิหลังของราษฎรพื้นที่ภาคอีสานจะใช้ชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยธรรมชาติแบบพอเพียง ทำนาปลูกข้าวไว้บริโภค ที่เหลือจึงนำออกขาย อยากกินเห็ดก็เข้าป่าใกล้บ้านมีให้เก็บมาบริโภคได้อย่างเพียงพอในช่วงฤดูกาลเห็ดออกดอก อยากกินปลาก็ลงหนองลงสระที่ทางศูนย์ฯ ได้ส่งเสริมให้มีการนำพันธุ์สัตว์น้ำลงไปปล่อยก่อนหน้านี้ ก็จะไม่เดือดร้อน และเมื่อได้น้อมนำพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีพมาปฏิบัติใช้โดยมีศูนย์ฯ ให้การสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยง ตลอดถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิตเบื้องต้น ก็ทำให้ราษฎรเหล่านี้ไม่เดือดร้อนแม้จะเป็นช่วงสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่สามารถเดินทางไปตลาดได้เช่นแต่ก่อนก็ตาม” นายสมชาย เชื้อจีน กล่าว
สำหรับศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นั้นเป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรบริเวณอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ส่วนราชการต่างๆ ร่วมกันพิจารณาจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ซึ่งประกอบอาชีพทำนาไม่ได้ผล และให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินงานศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ ในลักษณะเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตร การดำเนินงานโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ และมีพระราชกระแสให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมให้กับราษฎรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบริเวณพื้นที่รอบศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภคอย่างเพียงพอ รวมทั้งให้พิจารณาช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎรเพื่อให้มีรายได้เสริมและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และตลอดมาส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการภายใต้การประสานงานจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( สำนักงาน กปร. ) ในการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อให้บริการแก่ราษฎรแบบเบ็ดเสร็จในที่จุดเดียว ในลักษณะเช่นเดียวกันกับ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยพื้นที่ของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์มีทั้งหมดประมาณ 540 ไร่ ได้แบ่งพื้นที่เพื่อดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ สำหรับเป็นการสาธิตและฝึกอบรมให้แก่ราษฎร ซึ่งราษฎรสามารถนำไปเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพต่อไป โดยกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ศูนย์ฯ ที่ดำเนินงานประกอบด้วย กิจกรรมพืช กิจกรรมประมง กิจกรรมปศุสัตว์ และกิจกรรมป่าไม้ และในช่วงนี้เพื่อเป็นการรองรับสถานการณ์ด้านการใช้ชีวิตของราษฎรในพื้นที่ภายหลังจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ระบาดยุติแล้ว ทางศูนย์ฯ ได้มีการเตรียมการเพื่อขยายผลการปลูกกาแฟโรบัสต้า มะยงชิด ทุเรียน และมะม่วงแก้วขมิ้น สู่พื้นที่เพาะปลูกของราษฎรในพื้นที่ขยายผล เนื่องจากพืชส่วนนี้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ทั้งสภาพดินและภูมิอากาศ และมีโอกาสในการพัฒนาทางด้านการตลาดสูง อย่างกาแฟโรบัสต้าปัจจุบันประเทศไทยยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคต้องนำเข้าถึงปีละกว่า 40,000 ตัน ก็จะเป็นรายได้ที่มั่นคงของราษฎรในวันข้างหน้าได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 จากการดำเนินงานที่ผ่านมาได้ช่วยให้ราษฎรสามารถอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวที่สามารถพึ่งพาและช่วยเหลือตนเองได้เป็นอย่างดี ผู้สูงอายุมีคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นบุตรหลานที่เดินทางกลับมาอยู่บ้านช่วงการระบาดของโรคฯ ได้คอยดูแลและใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยมิกินมีใช้ไม่ขัดสนแบบครอบครัวอุปถัมภ์ดังเช่นอดีต โดยเฉพาะราษฎรในหมู่บ้านบริเวณรอบศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ จำนวน 18 หมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงอีกจำนวนหนึ่งก็ได้รับประโยชน์โดยตรงจากศูนย์ฯ อย่างเป็นรูปธรรมในความมั่นคงจากอาหารที่สามารถทำการผลิตเองได้แบบครบถ้วนทั้งผักและโปรตีนอย่างไม่ขาดแคลน