กยท. เผยสถานการณ์โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราดีขึ้นเกือบ 100 % ย้ำชาวสวนยางการ์ดอย่าตก เชื้อร้ายอาจกลับมาอีก

ข่าวทั่วไป Wednesday April 29, 2020 15:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--การยางแห่งประเทศไทย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยสถานการณ์โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารามีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบพื้นที่ติดโรคเหลือเพียง 20 ไร่เศษ จากพื้นที่เคยติดโรคเกือบ 8 แสนไร่ ผลพวงจากการผลัดใบตามฤดูกาลและสภาพอากาศที่มีความชื้นต่ำในช่วงที่ผ่านมา ย้ำเกษตรกรชาวสวนยางอย่าชะล่าใจหมั่นตรวจสอบสวนยางพาราของตน หากพบโรคนี้ให้รีบแจ้ง กยท. ในพื้นที่ทันที ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ล่าสุดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราว่ามีแนวโน้มดีขึ้น หลังลงพื้นที่สำรวจสวนยางพาราที่เคยได้รับรายงานการติดเชื้อ 10 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล พังงา ตรัง พัทลุง กระบี่ และสุราษฎร์ธานี พบว่าต้นยางพาราที่ยังคงติดเชื้อโรคใบร่วงชนิดใหม่ฯ เหลือเพียง 20 ไร่ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเท่านั้น หลัง กยท. พบการระบาดของโรคดังกล่าวตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2562 ในจังหวัดนราธิวาส และมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นเชื้อราที่ฟุ้งกระจายในอากาศ ส่งผลให้มีต้นยางพาราติดเชื้อเกือบ 8 แสนไร่ทั่วประเทศในช่วงต้นปี 2563 ดังนั้นเพื่อให้การบริหารจัดการโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการ กยท. จึงร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA บูรณาการงานวิจัยร่วมกันในการเร่งแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ด้วยการเก็บตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์หาเชื้อ การทดสอบการเกิดโรคเพื่อยืนยันเชื้อสาเหตุโรค การทดสอบประสิทธิภาพสารกำจัดเชื้อรา และการทดสอบอุปกรณ์และวิธีการฉีดพ่นที่เหมาะสมสำหรับสวนยาง นอกจากนี้ยังได้นำระบบดาวเทียมเข้ามาช่วยสำรวจพื้นที่ที่เกิดใบร่วง ดูทิศทางการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่เกิดใบร่วงในแต่ละห้วงเวลา ดร.กฤษดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่ทำให้โรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราดีขึ้น นอกจากการที่ กยท. ออกคำแนะนำ ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่แนวทางการป้องการกำจัดโรค การสาธิตและการสนับสนุนปัจจัยในการป้องกันกำจัดโรคในบางพื้นที่แล้ว ผลพวงอีกส่วนหนึ่งมาจากการผลัดใบตามธรรมชาติของต้นยางพารา เนื่องจากเชื้อราชนิดนี้ส่วนใหญ่เข้าทำลายที่ใบ เมื่อยางทิ้งใบเชื้อที่อยู่บนใบก็ร่วงหล่นลงไปด้วย และเมื่อมีการแตกใบชุดใหม่ขึ้นมาเป็นช่วงฤดูแล้ง ประกอบกับช่วงที่ผ่านมายังไม่มีฝนตกหรือมีน้อย ทำให้ความชื้นต่ำ จึงยังไม่ปรากฏการเข้าทำลายของโรคนี้ “อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้องหมั่นตรวจสอบสวนยางพาราของตนเอง ดูแลทำความสะอาดแปลง ใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางพาราอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำ อีกทั้งฤดูฝนที่กำลังจะเข้ามาอาจเอื้ออำนวยต่อการเข้าทำลายเชื้อ มีโอกาสที่เกิดขึ้นอีกได้ เกษตรกรจึงไม่ควรชะล่าใจ หากพบการระบาดหรือติดเชื้อชนิดนี้ให้รีบแจ้ง กยท. ในพื้นที่เพื่อเข้าตรวจสอบและหาแนวทางช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ