กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--เวเบอร์ แชนด์วิค
- ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เป็นท่าเทียบเรือแห่งแรกในประเทศไทยที่นำรถบรรทุกไร้คนขับเข้ามาทดสอบปฏิบัติงานภายในท่าเทียบเรือชุด D ณ ท่าเรือแหลมฉบัง
- รถบรรทุกไร้คนขับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสำคัญภายใต้แผนงานพัฒนาและติดตั้งเทคโนโลยีล้ำสมัยของ ฮัทชิสัน พอร์ท เพื่อยกระดับท่าเทียบเรือชุด D สู่ 'ท่าเรืออัจฉริยะ’ (Smart Port)
ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือชั้นนำในประเทศ และผู้นำด้านนวัตกรรมท่าเรืออัจฉริยะระดับโลก ประกาศเปิดตัวรถบรรทุกไร้คนขับเพื่อทดสอบปฏิบัติงานภายในท่าเทียบเรือชุด D ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เป็นแห่งแรกในประเทศไทยและเป็น กลุ่มแรกในโลก ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยเทคโนโลยีรถบรรทุกไร้คนขับ 'Qomolo' ที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานที่ท่าเทียบเรือชุด D ซึ่งการลงทุนครั้งสำคัญนี้ ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าและผู้ใช้บริการที่ท่าเทียบเรือชุด D ในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก อันเป็นประตูสำคัญสู่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเช่นเดียวกัน
รถบรรทุกไร้คนขับพลังงานไฟฟ้า Qomolo หรือ 'Q-Truck’ จำนวนทั้งหมด 6 คัน ได้ถูกขนส่งมาจากจากเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน มาที่ท่าเทียบเรือชุด D เมื่อวันที่ 26 เมษายน จากนี้ จะมีการทดสอบประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรถบรรทุกไร้คนขับร่วมกับ รถบรรทุกที่มีอยู่ในปัจจุบันสำหรับการขนส่งตู้สินค้าระหว่างหน้าท่าและลานตู้สินค้า โดยวางแผนระยะเวลาในการทดสอบเป็นเวลาหนึ่งปี
ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขั้นสูง และระบบการชาร์จพลังงานแบบไร้สาย ส่งผลให้รถบรรทุกไร้คนขับ Q-Truck สามารถปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องได้มากกว่า 24 ชั่วโมง พร้อมติดตั้งเซ็นเซอร์ “LiDAR” ที่วัดระยะห่างด้วยแสงเลเซอร์ (LiDAR – Light Detection and Rage ) ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจจับและสำรวจสภาพแวดล้อมทุกทิศทางได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำด้วยการสร้างแผนที่แบบ 3 มิติ ทำให้สามารถวิเคราะห์และประเมินสภาพการจราจรเพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคและการชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปฏิบัติงานของรถบรรทุกไร้คนขับภายในท่าเทียบเรือชุด D จะถูกควบคุมด้วยระบบปฏิบัติการสำหรับท่าเทียบเรือแบบครบวงจร 'nGen’ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยฮัทชิสัน พอร์ท เพื่อบูรณาการในการทำงานร่วมกับนวัตกรรมอื่น ๆ ภายในท่าเทียบเรือชุด D อาทิ เทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล (Remote Control Technology) เพื่อวางแผนเส้นทางวิ่งของรถ ตลอดจนระบบนัดหมายรถเข้าท่าเทียบเรือและลานจอดรถ เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดในการปฏิบัติงาน
มร. สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “รถบรรทุกไร้คนขับ Q-Truck ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาท่าเทียบเรือชุด D ให้กลายเป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือตู้สินค้าที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพที่สุดในภูมิภาค โดยเทคโนโลยีรถบรรทุกไร้คนขับนี้ จะเป็นการพลิกโฉมนวัฒกรรมท่าเรือ เช่นเดียวกับนวัฒกรรมล้ำสมัยที่มีอยู่เดิม รวมถึงนวัตกรรมที่ฮัทชิสันกำลังจะนำมาใช้ในอนาคต อาทิ เทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล บริการติดตามสถานะออนไลน์ (Online E-Tracking Services) เทคโนโลยีประตูอัตโนมัติ (Gate Automation) ที่ประตูทางเข้าและออกท่า เพื่อระบุตัวตนของรถได้จากระยะไกล ตลอดจนโครงการเครือข่ายการขนส่งระดับโลก (Global Shipping Business Network หรือ GSBN) โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างสายเดินเรือต่างๆ และผู้ใช้งานท่าเทียบเรือ ในขณะนี้เรากำลังเข้าใกล้เป้าหมายสำคัญในการมุ่งสู่การเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะที่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบแห่งแรกของประเทศ”
เกี่ยวกับฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย
ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (Hutchison Ports Thailand - HPT) ได้รับการก่อตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจขนส่งตู้สินค้าของประเทศไทย บริษัทฯ ตั้งอยู่ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยบนชายฝั่งของจังหวัดชลบุรีที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ลงมาเพียง 130 กิโลเมตร ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ให้บริการอำนวยความสะดวกเต็มรูปแบบ รวมถึง บริการสถานีขนถ่ายสินค้า ระบบรถไฟขนส่งรางคู่และมีเส้นทางเชื่อมต่อที่ดีกว่าสู่ทางหลวงสายหลักเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางในที่ต่างๆ ในประเทศไทย โดยมีจุดให้บริการในแหลมฉบังอยู่ที่ท่าเทียบเรือ A2 A3 C1 C2 และ D1 ขณะนี้กำลังดำเนินการพัฒนาท่าเทียบเรือ D2 และ D3
ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เป็นสมาชิกของกลุ่มฮัทชิสัน พอร์ท ซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งของบริษัท ซีเค ฮัทชิสัน โฮลดิ้งส์ จำกัด (CK Hutchison Holdings Limited) ที่ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านท่าเทียบเรือและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ฮัทชิสัน พอร์ท เป็นผู้ลงทุน พัฒนาและดำเนินกิจการด้านท่าเทียบเรือชั้นนำของโลก มีเครือข่ายท่าเทียบเรือถึง 52 แห่ง กระจายอยู่ใน 27 ประเทศทั่วโลก ทั้งใน เอเซีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ฮัทชิสัน พอร์ท ได้ขยายกิจการครอบคลุมไปถึงธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ ท่าเทียบเรือโดยสาร บริการท่าอากาศยาน ศูนย์กระจายสินค้า บริการขนส่งด้วยระบบรางและอู่ซ่อมเรือ