GIT เปิดโต๊ะหารือสมาคมธนาคารไทย เร่งช่วย SMEs อัญมณีและเครื่องประดับ มั่นใจธุรกิจฟื้น หลังโควิด-19 คลี่คลาย

ข่าวทั่วไป Thursday April 30, 2020 09:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ประชุมร่วมกับสมาคมธนาคารไทยเพื่อเร่งให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งส่วนมากเป็น SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ soft loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะช่วยเพิ่มมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ในช่วงล็อคดาวน์ มั่นใจเมื่อสถานการณ์คลี่คลายธุรกิจจะสามารถกลับมาฟื้นได้รวดเร็ว พร้อมหารือแนวทางการนำอัญมณีมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากธนาคาร ดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก ซึ่งทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำฯ) ลดลงจากมาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่เป็นตลาดหลักสำคัญ อย่าง จีน ฮ่องกง ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทำให้ไม่สามารถส่งออกได้ นอกจากนี้ การไม่มีนักท่องเที่ยวก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการค้าปลีก ดังนั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน GIT ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ได้จัดประชุมร่วมกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ และหน่วยงานด้านอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อหารือแนวทางในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ และความช่วยเหลือด้านการเงินทั้งในระยะสั้นและระยะยาว พร้อมเสนอแนวทางในการนำ “อัญมณี” ซึ่งถือได้ว่า เป็น ทรัพย์สินที่มีมูลค่า มาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจในการขอสินเชื่อให้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมทั้งการเข้าถึงสินเชื่อ SOFT LOAN อย่างเร่งด่วน หวังช่วยเหลือผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ถือว่าเป็นสินค้าสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศได้สูงเป็นอันดับ 2 เมื่อรวมกับมูลค่าการค้าภายในประเทศด้วยก่อให้เกิดเม็ดเงินถึงปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการซึ่งส่วนมากเป็น SMEs อยู่ถึง 11,800 ราย ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานกว่า1 ล้านคน ตลอดห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งประเทศไทยถือได้เป็นฐานการผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ Luxury Brand ทั่วโลก ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ปรับปรุงคุณภาพอัญมณี การออกแบบและผลิตเครื่องประดับที่มีคุณภาพสูง จากช่างฝีมือแรงงานที่มีประสบการณ์ ซึ่งต้องใช้การสั่งสมประสบการณ์มากกว่า 40-50 ปี ทำให้อุตสาหกรรม อัญมณีและเครื่องประดับของไทย มีความเฉพาะตัว เลียนแบบยาก ที่ต่างชาติไม่สามารถทำได้ ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อรักษาฐานการผลิตให้อยู่ในประเทศ ทั้งนี้ มั่นใจว่าแบรนด์เครื่องประดับไฮเอนด์ทั้งหลายก็จะกลับมามีการสั่งซื้ออย่างรวดเร็ว เมื่อสถานการณ์ล็อคดาวน์คลี่คลาย เพราะตลาดนี้มีความต้องการสินค้าในระดับที่สูง โดยจะเห็นว่า สามารถผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้งในอดีต และยังสามารถเติบโตได้ดี โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา GIT ได้ประชุมร่วมกับ สมาคมธนาคารไทยและตัวแทนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อาทิ สมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี โดยเบื้องต้น สมาคมธนาคารไทยได้ชี้แจงว่าผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับสามารถขอสินเชื่อ SOFT LOAN ที่เป็นสินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6?เดือนแรก โดยผู้ประกอบการต้องเป็นลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารของรัฐ และมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารแต่ละแห่งไม่เกิน?500?ล้านบาท มีสถานะผ่อนชำระปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (ยังไม่เป็น NPL) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยให้แจ้งความประสงค์ต่อธนาคารที่มีวงเงินสินเชื่ออยู่ นอกจากนี้ ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน จากกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลลูกจ้างในช่วงที่หยุดกิจการชั่วคราว โดยสถานประกอบการที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะได้รับอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี คงที่ 3 ปี ส่วนสถานประกอบการที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือใช้บุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ร้อยละ 5 ต่อปี คงที่ 3 ปี โดยจะต้องเป็นสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาการจ้างงานผู้ประกันตนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ตลอดอายุโครงการ 3 ปี ทั้งนี้ ยังมีการหารือเรื่องการนำสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากธนาคาร โดยจะมีการประชุมร่วมกันกับสถาบันการเงินและหน่วยงานด้านอัญมณีและเครื่องประดับรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับต่อไป เพื่อหาแนวทางในการประเมินราคาอย่างเป็นธรรม และขั้นตอนการดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นการให้ความสนับสนุนด้านการเงินในระยะกลางและระยะยาวต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ