วศ.อว.พัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการด้านการทดสอบคุณค่าทางโภชนะของอาหารสัตว์ เพื่อประเมินความสามารถของห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ข่าวทั่วไป Thursday April 30, 2020 14:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--กรมวิทยาศาสตร์บริการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดย กองความสามารถห้องปฏิบัติการและรับรองผลิตภัณฑ์ สนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำการทดสอบคุณภาพด้านอาหารและอาหารสัตว์ เพื่อประเมินสมรรถนะและพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการให้ได้ผลการทดสอบเป็นไปตามมาตรฐานสากล จึงได้จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (proficiency testing, PT) โดยได้ดำเนินการจัดส่งตัวอย่างอาหารสัตว์ ให้แก่ห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 130 ห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการภายในประเทศ 123 หน่วยงาน และต่างประเทศ 7 หน่วยงาน เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบผลการวัด ในรายการ Moisture, Protein, Crude fat, Crude fiber and Ash in feeding stuffs และส่งผลกลับมายังกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ภายในวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 เพื่อประเมินผลทางสถิติเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการต่อไป อาหารสัตว์นับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้เลี้ยงสัตว์และผู้ผลิตอาหารสัตว์ จึงควรให้ความสำคัญในการตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนะทั้งวัตถุดิบที่นำมาผลิตและอาหารสัตว์ การทดสอบคุณค่าทางโภชนะอาหารสัตว์ โดยทั่วไปจะใช้วิธีทดสอบแบบประมาณ (proxinmate analysis) โดยหลักการวิธีนี้จะแบ่งกลุ่มโภชนะออกเป็น 6 กลุ่ม คือ ความชื้น (Moisture) โปรตีน (Protein) ไขมันรวม (Crude fat) กากหรือเยื่อใยรวม (Crude fiber) เถ้า (Ash) และคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยได้ง่าย (nitrogen free extract, NFE) ทั้งนี้การเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ถือเป็นการประกันคุณภาพผลการทดสอบอย่างหนึ่งของห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC17025 เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในผลการทดสอบว่ามีความแม่นยำ ถูกต้อง รวมถึงเป็นที่ยอมรับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ส่งตัวอย่างมาทดสอบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ