กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ที่ระดับ 'BBB+’ และอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ 'AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของ ปตท. อยู่ในส่วนสุดท้ายของรายงานนี้
การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของปตท. ที่ระดับ 'bbb+’ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย ('BBB+’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) อันดับเครดิตของปตท. จะยังคงเท่ากับอันดับเครดิตของประเทศไทย ถ้าหากสถานะเครดิตโดยลำพังของปตท.ลดลงในอนาคต ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ (Government-Related Entities Rating Criteria) ของฟิทช์ โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันยังคงเหมือนเดิม สถานะเครดิตโดยลำพังของ ปตท. สะท้อนถึงความเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจร รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ ในระดับสูง: ฟิทช์มองว่าสัดส่วนการถือหุ้นและการควบคุมของภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับปานกลาง โดยรัฐบาลถือหุ้นโดยตรงในปตท. ในสัดส่วนร้อยละ 51 และมีส่วนในการคัดเลือกคณะกรรมการบริษัทฯ แต่ระดับการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการกำหนดกลยุทธ์ การดำเนินงาน และการดำเนินการทางการเงินในระดับปฏิบัติการ ของภาครัฐฯอยู่ในระดับปานกลาง นอกจากนี้ ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับสูง แม้ว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทฯ เนื่องจากปตท. มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าภาครัฐฯ น่าจะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ปตท. ในกรณีที่บริษัทมีความต้องการ เนื่องจากปตท. มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และเป็นตัวจักรสำคัญในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย
ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในกรณีที่ปตท. ผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับสูง เนื่องจาก ปตท. เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติรายเดียวให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าของภาครัฐฯ และก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งหากมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น ฟิทช์คาดว่าน่าจะมีผลกระทบต่อการจัดหาก๊าซธรรมชาติสำหรับใช้ภายในประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่าการผิดนัดชำระหนี้อาจจะมีผลกระทบต่อการกู้ยืม และต้นทุนทางการเงินของภาครัฐฯ และองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ อื่นๆ ด้วย
แรงกดดันจากกำไรที่ลดลง: อัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ ปตท. ในปี 2563 จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ปรับตัวลดลง ซึ่งน่าจะทำให้กำไรจากธุรกิจโรงแยกก๊าซและการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมลดลง ในขณะที่อุปสงค์ที่ลดลงเนื่องจากสถานะการณ์โคโรนาไวรัส น่าจะทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าผลประกอบการของบริษัทฯ น่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นหลังจากสถานะการณ์โคโรนาไวรัสดีขึ้น แต่ก็ยังคงต่ำกว่าระดับที่บริษัทฯ ทำได้ในปี 2562
ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจะปรับตัวลดลงไม่มาก เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่ลดลง เนื่องจากปตท. มีสัดส่วนของปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 71 ของปริมาณการขายทั้งหมด รวมถึงการที่บริษัทฯ มีการทำสัญญาขายล่วงหน้าเพื่อประกันราคาน้ำมันของการขายน้ำมันบางส่วนซึ่งจะช่วยให้รายได้ไม่ลดลงมาก ราคาขายก๊าซธรรมชาติจะปรับตามราคาน้ำมันเตาในสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 และจะใช้เวลา 3-24 เดือนในการปรับราคาซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในสัญญาซื้อขาย
SCP Rating Headroom ลดลง: ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการเงินของ ปตท. จะยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ ที่ระดับ 'bbb+’ แม้ว่า Rating Headroom จะลดลง ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ของปตท. จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5 เท่าในปี 2563 (ปี 2562 อยู่ที่ 1.6 เท่า) และค่อยปรับลดลงสู่ระดับ 2 เท่าใน 2-3 ปีข้างหน้า
แผนการลงทุนที่มีความหยืดหยุ่นอยู่บ้าง: ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุนของ ปตท. และบริษัทย่อย น่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในปี 2563 จากปี 2562 ที่ใช้เงินลงทุน 1.59 แสนล้านบาท เนื่องจากการลงทุนของบริษัทย่อยที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทย่อยในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี มีแผนการลงทุนที่กำหนดไว้แน่นอนแล้วในช่วงปี 2563-2565 ในขณะที่แผนการลงทุนที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็มีแนวโน้มที่จะมีการปรับเลื่อนออกไปก่อน ฟิทช์ประมาณการว่าเงินลงทุนของบริษัทย่อยในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี จะอยู่ที่ประมาณหนึ่งแสนล้านบาทในปี 2563 ในขณะที่ ปตท. และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. (อันดับเครดิต BBB+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มีความยืดหยุ่นในการปรับแผนการลงทุน โดยบริษัทฯ กล่าวว่า ปตท. สามารถปรับลดได้ถึงร้อยละ 20-30 ในปี 2563 ในขณะที่ ปตท. สผ. สามารถปรับลดได้ถึงร้อยละ 15-20 และทั้งสองบริษัทก็อาจจะพิจารณาแผนการลงทุนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าใหม่ ถ้าสภาพธุรกิจมีแนวโน้มที่จะไม่ปรับตัวดีขึ้นในปี 2564
ธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปรับตัวดีขึ้น: ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของ ปตท. สผ. เพิ่มขึ้น จากการเข้าซื้อกิจการธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงการชนะการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณ แม้ว่าปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในกลุ่ม 'BBB’ ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่อการผลิตของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 7.5 ปี ในปี 2562 จาก 5.2 ปีในปี2561 ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะรักษาระดับปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่อการผลิตอยู่ที่ประมาณ 7 ปีในช่วงสามปีข้างหน้านี้ นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในช่วงห้าปีข้างหน้าน่าจะเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีความท้าทายจากสถานะการณ์โคโรนาไวรัสในปี 2563 ปตท. สผ. มีแผนที่จะเริ่มการผลิตในโครงการต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยโครงการ Sabah H ในปี 2563 และโครงการ Algeria HBR phase I ในปี 2564 นอกจากนี้สัญญาใหม่ในแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณยังช่วยเพิ่มการผลิตในปี 2565-2566 อีกด้วย
ความเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจร: อันดับเครดิตของ ปตท. สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจร และความมีเสถียรภาพจากการที่ ปตท. มีขนาดธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำที่มีขนาดใหญ่และมั่นคง ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายและขนส่งก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจจำหน่ายปลีกน้ำมัน ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และธุรกิจปิโตรเคมี โดยธุรกิจเหล่านี้ช่วยลดผลกระทบจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2557
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซที่มีความสม่ำเสมอ: สถานะทางการเงินของ ปตท. ได้รับประโยชน์จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่มีความสม่ำเสมอเมื่อเทียบกับธุรกิจน้ำมัน อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่มีความมั่นคง และสัญญาการจัดจำหน่ายระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงโครงสร้างราคาที่สามารถส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้าได้ อัตราการทำกำไรของธุรกิจท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว และการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซ ไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากนัก เนื่องจากเป็นรายได้ที่มาจากค่าให้บริการตามที่กำหนดไว้และโครงสร้างราคาที่สามารถส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้าได้ อย่างไรก็ตามกำไรจากธุรกิจโรงแยกก๊าซและการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สูงกว่า เนื่องจากการปรับราคาของต้นทุนก๊าซธรรมชาติตามสัญญาการซื้อขายระยะยาว จะช้ากว่าการปรับราคาของราคาผลิตภัณฑ์
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
ปตท. เป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติขั้นกลางและขั้นปลายเพียงรายเดียว เป็นหนึ่งในบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศ และเป็นผู้นำในธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมี ฟิทช์มองว่าสัดส่วนการถือหุ้นและการควบคุมของภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ Petroliam Nasional Berhad (PETRONAS, อันดับเครดิต A- แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากระดับที่ภาครัฐฯ เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการกำหนดกลยุทธ์และการดำเนินงานของ ปตท. ที่น้อยกว่า ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ต่อปตท. อยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับของ PETRONAS โดยแม้ว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการสนับสนุนทางการเงินให้กับบริษัททั้งสอง เนื่องจากมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าภาครัฐฯ น่าจะสนับสนุนทางการเงินให้ในกรณีที่บริษัทมีความต้องการ
ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในกรณีที่บริษัทฯ ผิดนัดชำระหนี้ของ PETRONAS และ China National Petroleum Corporation’s (CNPC, อันดับเครดิต A+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) อยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจากบริษัททั้งสองมีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจและภาครัฐฯ ของประเทศ ในขณะที่ของ ปตท. อยู่ในระดับสูง ซึ่งสะท้อนถึงการที่ ปตท. มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณร้อยละ 40 ในธุรกิจน้ำมันและมีการแข่งขันจากผู้ประกอบเอกชนการรายอื่นด้วย นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่าการผิดนัดชำระหนี้อาจจะมีผลกระทบต่อการกู้ยืมของภาครัฐฯ และองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ อื่นๆ ของ ปตท. อยู่ในระดับสูง แต่อยู่ในระดับต่ำกว่ากว่าเมื่อเทียบกับ PETRONAS และ CNPC ที่อยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจากบริษัททั้งสองมีสถานะเป็นผู้กู้ยืมที่ใกล้ความเป็นภาครัฐฯ มากกว่า
สถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของปตท. ที่ระดับ 'bbb+ สะท้อนถึงความเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรขนาดกลาง โดย ปตท. มีขนาดธุรกิจที่เล็กมากเมื่อเทียบกับ CNPC และ PETRONAS ซึ่งอันดับเครดิตของบริษัททั้งสองถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตของประเทศ ปตท. มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าบริษัท OMV AG (อันดับเครดิต A- แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) และบริษัท Repsol, S.A. (อันดับเครดิต BBB แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ในด้านรายได้และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) แต่มีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่น้อยกว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับ OMV ปตท. มีอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการพิจารณาอันดับเครดติที่ใกล้เคียงกัน แต่ OMV ดำเนินธุรกิจในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า และเมื่อเทียบกับ Repsol ปตท. มีอัตราส่วนทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ที่ราคา 35 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2563, 45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2564, 53 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2565, 55 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2566 และปีถัดๆไปปริมาณการขายของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปีโดยเฉลี่ย ในปี 2563-2567 (ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15)EBITDA จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันลดลงในปี 2563 เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2563-2564 (2562 มีการลงทุนทั้งสิน 1.59 แสนล้านบาท)การจ่ายเงินปันผลประมาณร้อยละ 50 ของกำไร
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตประเทศไทย หากความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ กับประเทศไม่เปลี่ยนแปลง
ปัจจัยลบ
การปรับลดอันดับเครดิตประเทศไทย
ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท.:
การลงทุนที่สูงโดยใช้เงินกู้ยืม หรือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งทำให้อัตราส่วน FFO net leverage ที่สูงกว่า 2.8 เท่าการเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎระเบียบ การแก้ไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติและการปรับค่าผ่านท่อก๊าซที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อ ปตท.
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคตของประเทศไทย
ปัจจัยบวก:
ความต่อเนื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่ทำให้เกิดการขาดดุลการบรรเทาลงของความกดดันทางการเมืองและสังคม ในระดับที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายภาครัฐในการบริหารประเทศและดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
ปัจจัยลบ:
ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ในระดับที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของหนี้สินของรัฐบาล เช่น เนื่องจากฐานะทางการคลังที่แย่ลง หรือการเพิ่มขึ้นอย่างมากของหนี้สาธารณะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (contingent liabilities)
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: สภาพคล่องของ ปตท. ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่มีอยู่จำนวนมากถึงประมาณ 3.1 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 เมื่อเทียบกับหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 9.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย รวมทั้งบริษัทฯ ยังมีภาระการชำระคืนหนี้ที่บริหารจัดการได้ โดยมีอายุเฉลี่ยของหนี้ที่ครบกำหนดชำระประมาณ 9.2 ปี
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดของปตท. มีดังนี้
คงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ที่ระดับ 'BBB+’; แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Long-term Local-Currency Issuer Default Rating) ที่ระดับ 'BBB+’; แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพคงอันดับเครดิตสากลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ (International Short-term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ที่ระดับ 'F2’คงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ 'AAA(tha)’; แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ 'F1+(tha)’คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ระดับ 'AAA(tha)’คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของโครงการออกตราสารหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ (MTN Program) ที่ระดับ 'AAA(tha)’