“รมช. ประภัตร” ประชุมโครงการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวคุณภาพดี ปี 2563

ข่าวทั่วไป Tuesday May 5, 2020 10:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมโครงการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวคุณภาพดี ปี 2563 ภายใต้รูปแบบศูนย์ข้าวชุมชน ณ หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการทำความเข้าใจกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ปี 2563 ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด และเป็นไปตามมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าวอย่างเคร่งครัดโดยในปี 2563 เกษตรกรไทยทั่วประเทศ มีความต้องการปลูกข้าว ประมาณ 60 ล้านไร่ ซึ่งเมล็ดพันธุ์ ไม่มีเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรทั้งหมด จึงต้องเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงต่อความต้องการของเกษตรกรให้ได้มากที่สุด ในอนาคตเกษตรกรมีความต้องการเมล็ดพันธุ์ กว่า 1.2 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้เมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องการมากที่สุด คือ เมล็ดพันธุ์ข้าวนิ่ม หรือข้าวหอมปทุม ที่กำลังได้รับความนิยมและเป็นไปตามความต้องการของตลาดอย่างมาก ทั้งนี้ เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพตามความต้องการในการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ได้คุณภาพ ตนจึงได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่กรมการข้าวร่วมกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ภาคกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นเหล่งพื้นที่ผลิตกว่า 2 หมื่นไร่ มาทำความเข้าใจถึงขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพให้กับเกษตรกร พร้อมประกันราคาเมล็ดพันธุ์ข้าว ตันละ 11,000บาท ในความชื้นที่ไม่เกินร้อยละ 25 โดยการผลิตเมล็ดพันธุ์ครั้งนี้ กรมการข้าวจะจัดหาเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อที่จะนำไปปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูก โดยหลังการเก็บเกี่ยว จะต้องนำข้าวทั้งหมดมาจำหน่ายคืนให้กับกรมการข้าว เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการคัดพันธุ์ก่อนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์คุณภาพให้กับเกษตรกรต่อไป อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ ยังมีการเชิญกลุ่มเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ การผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ โดยใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เข้ามาร่วมให้ความรู้กับเกษตรกร เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวให้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการทำนาแบบเดิม เป็นต้นทุน ที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพื้นที่ จ. สุพรรณบุรี มีต้นทุนในการผลิตข้าว มากถึง 6,000 ต่อไร่ ซึ่งถือว่าสูงมากพอสมควร จึงพยายามที่จะปรับเปลี่ยนการส่งเสริมการผลิตข้าวแบบใหม่ เบื้องต้นภาคเอกชน ยืนยันว่าสามารถผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยีแบบใหม่ ที่มีต้นทุนการผลิต ที่ประมาณ 4,000 บาท ต่อไร่เท่านั้น นายประภัตร กล่าวอีกว่า การส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสดีที่เกษตรกรจะได้เมล็ดพันธุ์คุณภาพนำไปปลูกข้าว ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด และเชื่อว่าหลังผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หากมีการผลิตข้าวจากเมล็ดพันธุ์คุณภาพที่มาจากกรมการข้าวโดยตรง เชื่อว่าจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากขึ้นอย่างแน่นนอน โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นกลุ่มเกษตรกรที่เป็นกลุ่มร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ ที่มีการประกันรายได้ที่ชัดเจนแล้ว ยังสามารถได้รับสิทธิ์ในการกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำจาก ธกส. ในโครงการ ล้านละร้อยได้ด้วย เนื่องจากมีตลาดรองรับที่ชัดเจน และคาดว่าจะสามารถดำเนินการปลูกข้าวได้ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งต้องรอกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อให้ไม่ให้เกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง ขณะที่ นายขจรศักดิ์ เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ ในครั้งนี้ ถือเป็นโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอัจฉริยะที่นำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมในการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์นั้น เบื้องต้น มีการส่งเสริมการผลิตนำร่องในพื้นที่สุพรรณบุรีเป็นหลัก โดยกรมการข้าว มีหน้าที่ให้ความรู้และผลิตเมล็ดพันธุ์ทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามมาตรฐาน จากนั้น กรมการข้าวจะทำหน้าที่ ซื้อเมล็ดพันธุ์ จากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด เพื่อนำกลับไปเข้าสู่ขั้นตอนปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และนำไปส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพตามความต้องการของตลาดต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ