มิวเซียมสยามชวนสำรวจแมลงรอบตัวและทำกาวดักแมลงด้วยตัวเอง

ข่าวทั่วไป Tuesday May 5, 2020 16:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ค.--ชมฉวีวรรณ แม้ในช่วงนี้ แหล่งเรียนรู้สาธารณะต้องปิดชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อ COVID - 19 แต่การเรียนรู้ ใช่ว่าจะต้องหยุดนิ่ง ดังนั้นมิวเซียมสยาม ได้จัดกิจกรรม Museum inFocus Online สร้างพื้นที่สนทนารูปแบบใหม่ของคนทำงานพิพิธภัณฑ์ โดยนำนักอนุรักษ์และนักวิจัย ร่วมไขคำตอบปัญหาที่พบบ่อยของงานพิพิธภัณฑ์ในหัวข้อ แมลงศัตรูร้ายในงานอนุรักษ์ โดยเน้นการสำรวจแมลงรอบตัวและนำเสนอวิธีการทำกาวดักแมลงแบบไร้สารเคมี บุรินทร์ สิงห์โตอาจ นักวิจัยประจำห้องคลังโบราณวัตถุและห้องปฏิบัติการ บอกเล่าถึงความสำคัญของงานอนุรักษ์กับแมลงว่า “การจัดการแมลง หรือ การควบคุมแมลง ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานอนุรักษ์เชิงป้องกัน เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อม และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับวัตถุจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมและปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น คน อุณหภูมิ ความชื้น และแมลง การเสื่อมสภาพของวัตถุเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในงานอนุรักษ์เชิงป้องกัน และสาเหตุของการเสื่อมสภาพของวัตถุ คือ มนุษย์และสิ่งแวดล้อม แมลงถือเป็นหนึ่งในตัวเร่งให้เกิดการเสื่อมสภาพ ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้มีแมลงรบกวนในงานพิพิธภัณฑ์คือ ระบบการจัดการที่ไม่ดี มีแหล่งอาหาร การจัดเก็บไม่เป็นระเบียบ โดยเฉพาะวัตถุประเภท ผ้า กระดาษ ไม้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอาหารของแมลง ดังนั้น เราจึงต้องมีวิธีการจัดการแบบบูรณาการที่ดี” ด้าน วรรณวิษา วรวาท นักอนุรักษ์ประจำห้องคลังโบราณวัตถุและห้องปฏิบัติการ บอกว่า “แม้ว่าปัจจุบันการจัดการแมลงแบบบูรณาการ (Integrated Pest Management: IPM) จะได้รับความนิยมในงานพิพิธภัณฑ์ แต่ควรคำนึงถึงหลักการของการจัดการแมลงแบบผสมผสาน 5 ประการคือ 1) แมลงไม่ได้ถูกกำจัดให้หมดสิ้นไป แต่ยังคงมีอยู่ระดับที่ยอมรับได้ 2) การจัดการแมลงต้องพิจารณาระบบนิเวศ และสภาพแวดล้อม 3) ควรเลือกใช้การควบคุมด้วยวิธีธรรมชาติดีที่สุด 4) ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการควบคุมแมลงในทุกวิธีการ 5) ควรได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง 5 หลักการดังกล่าวสามารถนำมาปรับใช้ภายในห้องคลังโบราณวัตถุและห้องจัดแสดงวัตถุได้ แต่ต้องศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น และแนวทางป้องกันอย่างละเอียด ที่สำคัญต้องสำรวจและตรวจสอบสถานที่อย่างสม่ำเสมอ” สำหรับวิธีการจัดการแมลงแบบบูรณาการ (IPM) เป็นทางออกสำหรับแมลงที่ดื้อสารเคมีระยะยาว โดยมีข้อดีคือ ใช้สารเคมีน้อยลงซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน ช่วยลดการเสื่อมสภาพและความเสียหายของวัตถุพิพิธภัณฑ์ และการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อควบคุมแมลงแบบผสมผสานจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพของการควบคุมและป้องกันแมลงได้ในระยะยาว แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดคือ ใช้เวลาในการจัดการแมลงมากกว่าการจัดการโดยใช้สารเคมี และการจัดการแบบ IPM ต้องใช้การดำเนินการจากผู้เชี่ยวชาญ และอาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการจัดการแมลงโดยใช้สารเคมี เพื่อเป็นการช่วยดูแลรักษาวัตถุที่มีคุณค่า มิวเซียมสยามได้แบ่งปันไอเดียวิธีการทำกาวดักแมลงแบบไร้สารเคมี ให้ทุกคนสามารถทำได้เองที่บ้าน โดยเริ่มจากการเตรียมอุปกรณ์ ประกอบด้วย โกร่งบดยา เตาไฟฟ้า หม้อสแตนเลส สำหรับวิธีการทำกาวดักแมลง แบบไร้สารเคมีสามารถทำได้ง่าย ๆ คือ ตั้งเตาให้อุณหภูมิอยู่ที่ 80 องศา หรือถ้าหากใครไม่มีเตาควบควบคุมอุณหภูมิแนะนำให้ใช้ไฟต่ำสุด เมื่อตั้งเตาและหม้อเรียบร้อยจึงใส่น้ำมันละหุ่ง สังเกตน้ำมันละหุ่งให้ร้อนที่อุณหภูมิ 80 องศา หลังจากนั้นใส่ไขคาร์นัวบาปริมาณ 12 กรัม และยางสนปริมาณ 100 กรัม คนส่วนผสมให้เข้ากันและทิ้งไว้ให้เย็น กาวจะมีความหนืดขึ้น ในการทำกับดักแมลงให้ใช้กระดาษที่มีความหนา 180 แกรม พิมพ์ตามแบบกับดักแมลง ตัดช่อง พร้อมทำการบันทึกข้อมูลก่อนการใช้กาวคือ ลำดับที่ วันที่ ผู้วางกับดัก และตำแหน่งที่วาง หลังจากนั้นทากาวลงบนกระดาษ และประกอบให้เป็นกับดักทรงสามเหลี่ยม เพียงแค่นี้ คุณจะได้กับดักแมลงที่ใช้กาวดักแมลงแบบไร้สารเคมี ทั้งนี้ ในการจัดการแมลงที่เป็นศัตรูร้ายในงานอนุรักษ์ การวางแผนจัดการและควบคุมแมลงในแต่ละรูปแบบย่อมมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการที่เลือกใช้และความเหมาะสม ทั้งนี้ความเสียหายจากแมลงขึ้นอยู่กับว่าแมลงนั้นทำลายวัตถุอะไร และวัตถุนั้นมีคุณค่าอย่างไร ถ้าหากเราสามารถป้องกันหรือตัดวงจรชีวิตของแมลง ก็จะเป็นการป้องกันและยืดอายุวัตถุที่มีคุณค่าได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ