กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในการประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ The Times Higher Education University Impact Rankings 2020 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่งของประเทศไทย และเป็นที่ 45 ของโลก ในการพัฒนาระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDG (Sustainable Development Goal) ในข้อที่ 15 ตามกรอบการดำเนินงานด้านการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ
จุฬาฯ มีผลงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 15 ในชื่อ “ชีวิตบนผืนดิน” ผ่านงานวิจัย การเรียนการสอน การบริการทางวิชาการ การดำเนินการกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงการวางแผนในเชิงนโยบาย และมีการร่วมมือกันกับภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยจุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยที่ครอบคลุมศาสตร์อันหลากหลาย มีศักยภาพอย่างชัดเจนทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และ มนุษยศาสตร์ ในการสร้างคุณูปการต่อการสร้างความยั่งยืนต่อระบบนิเวศทางบกอย่างรอบด้าน
งานวิจัยหนึ่งที่โดดเด่นซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนต่อผืนดินมาจากภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่ได้มีการพัฒนาจุลินทรีย์ซึ่งสามารถย่อยสลายสารพิษจากยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนสู่ดิน สามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์การเกษตรได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากสารพิษ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ที่มากขึ้น และสร้างระบบห่วงโซ่อาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
“มีครั้งหนึ่งดิฉันลงไปพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกร มีรายหนึ่งบอกว่าหมดเงินไปราวสามหมื่นบาทแล้วกับพวกฟื้นฟูดิน แต่ไม่ได้ผลสักที แต่พอมาลองใช้โครงการนี้พบว่าใช้งานได้ดี และต่อไปเขาจะมาซื้อจุลินทรีย์พวกนี้แทนเพื่อปรับปรุงดิน ดิฉันมองว่าโครงการนี้นอกจากจะช่วยในแง่สิ่งแวดล้อม ยังช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและรายได้ของเกษตรกรด้วย” ศ.ดร.อลิสา วังใน จากภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้พัฒนาโครงการดังกล่าวระบุ
แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีแคมปัสหลักอยู่กลางกรุงเทพมหานคร แต่จุฬาฯ ยังมีศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เป็นกำลังหลักในการสร้างองค์ความรู้และแสดงบทบาทเพื่อการพัฒนาระบบนิเวศทางปฐพีอย่างยั่งยืน
ในส่วนของศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้ฯที่สระบุรี ทางจุฬาฯ ได้พัฒนาที่ดินบริเวณดังกล่าวมาตั้งแต่ ปี 2532 และต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานสำรวจสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ กายภาพ ประเมินสถานภาพทางนิเวศวิทยา โดยเชื่อมโยงโครงการในพื้นที่ด้วยกันกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้ฯ ที่สระบุรีมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูป่า โดยใช้องค์ความรู้จากนักวิชาการของจุฬาฯ อีกทั้งยังสร้างการมีส่วนร่วมและช่วยเหลือชุมชน มีการให้นิสิตเข้าไปเรียนรู้วิถีและความต้องการของชุมชนพื้นบ้าน ตลอดจนการเรียนรู้การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ โครงการการปลูกหญ้าแฝกและพืชอื่นเพื่อป้องกันภัยดินถล่ม ตลอดจนโครงการใช้ราไมคอร์ไรซาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูป่าไม้ในประเทศไทย
ในทำนองเดียวกัน การก่อตั้งสถานีวิจัยและปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ท้องถิ่น ในท้องที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ตั้งแต่ปี 2549 ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่จุฬาฯ เข้าไปช่วยดูแลฟื้นฟูพื้นดินเนื่องจากชาวบ้านในละแวกนั้นมีการทำเกษตรกรรมพืชเดี่ยวอย่างต่อเนื่อง มีการใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงเป็นปริมาณมาก จนมีการปนเปื้อนสู่ดินและแหล่งน้ำ
“โครงการรักษ์ป่าน่าน” ซึ่งทางจุฬาฯ ได้ริเริ่มร่วมกับธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank และองค์กรต่างๆทั้งในภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนสร้างความตระหนักให้แก่เกษตรกรในจังหวัด สร้างต้นแบบการเกษตรแบบใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ปลอดจากสารเคมี สร้างชุมชนเกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรกรรมแบบเดิม ปลอดสารเคมีและลดการปนเปื้อน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำโครงการจัดการภัยพิบัติ การรับมือกับน้ำท่วม และการอนุรักษ์โบราณสถาน รวมถึงการออกแบบเมืองให้รองรับการท่องเที่ยว โดยให้สอดคล้องและเป็นไปอย่างกลมกลืนกับวิถีชุมชนเดิม
“ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการดำเนินงานพัฒนามิติด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา ปลูกฝังจิตสำนึกและเสริมสร้างผู้นำในชุมชน เน้นที่เยาวชน รวมถึงพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมเศรษฐกิจ การอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้เราได้บุคลากรท้องถิ่นประสานงานร่วมมือด้วยกันผ่านโครงการต่างๆ โดยมีเครือข่ายนิสิตเก่าเป็นผู้สนับสนุนสำคัญ ทุกส่วนร่วมมือกันบนฐานของความเชื่อใจอย่างยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเดียวกัน” ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค กล่าว
นอกเหนือจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม จุฬาฯ ยังมีพลังอันเข้มแข็งจากนักวิชาการและนักวิจัยสายสังคมศาสตร์ที่ช่วยโอบเอื้อและดูแลความยั่งยืนของการใช้ชีวิตของมนุษย์บนระบบนิเวศบนผืนดิน ด้วยความรู้ความเข้าใจที่สั่งสมยาวนานและยังส่งผลกระทบทางนโยบายอีกด้วย
ดร.นฤมล อรุโณทัย จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ทำการศึกษาโครงการนำร่องอันดามันตั้งแต่ปี 2540 โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การยูเนสโก เริ่มต้นตั้งแต่การสำรวจภาคสนาม ถามความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาของส่วนภูมิภาค และชาวเล ซึ่งประกอบไปด้วยชาวมอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในพื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา
ผลจากงานวิจัยดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มชาวเลได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงของการพัฒนาเมือง เนื่องจากพึ่งพิงฐานทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก มีปัญหาด้านการไร้รัฐ ไร้ที่สิทธิในอยู่อาศัย ถูกจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพทางทะเล และความอ่อนแอในการปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง
องค์ความรู้จากวิจัยที่เก็บรวบรวมเป็นเวลาหลายปีทำให้นักวิจัยเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชนชาวพื้นเมืองเข้าใจความหลากหลายเชิงวัฒนธรรมและการสร้างแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านรูปแบบการท่องเที่ยงแบบยั่งยืน เพื่อให้บุคคลภายนอก หรือนักท่องเที่ยว เข้าใจวัฒนธรรมและวิถีตามธรรมชาติของชาวเล ซึ่งจะช่วยเป็นรากฐานในการสร้างความเข้าใจชุมชนชาวพื้นเมืองอื่นๆ ในสังคมไทย
“โลกรู้จักชาวเลตอนเกิดสึนามิ แต่เมื่อเรามีข้อมูลจากวิจัยที่เก็บรวบรวมมาทำให้ภาครัฐและประชาสังคมมองเห็นคุณค่าของนิเวศวัฒนธรรมชายฝั่งทะเล จนมีมติ ครม. พ.ศ. 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และยิ่งขณะนี้กำลังมีสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ชุมชนชาวเล ชุมชนพื้นเมืองต่างๆ ได้เริ่มแลกเปลี่ยนข้าวปลาอาหารกันและกัน สะท้อนให้เห็นความสำคัญของระบบนิเวศ วัฒนธรรม และการพึ่งพาตนเองของชุมชนท้องถิ่น” ดร.นฤมล อรุโณทัย ระบุ
การทำงานร่วมกันระหว่างจุฬาฯ กับชาวเล ทำให้เกิดกิจกรรม “มอแกนพาเที่ยว” ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ชาวมอแกนกลุ่มหนึ่งต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนตนเอง จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิถีวัฒนธรรมจัดนิทรรศการในหมู่บ้าน พัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติวัฒนธรรม เชื้อเชิญนักท่องเที่ยวนั่งเรือรูปแบบดั้งเดิมเดินทางไปตามเส้นทางธรรมชาติ ทำความเข้าใจวิถีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม และสร้างความภาคภูมิใจแก่ชุมชนท้องถิ่น
ด้วยองค์ความรู้ของจุฬาฯและความพยายามในการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในทุกระดับ จึงนำไปสู่การสร้างผลกระทบต่อการสร้างระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน