สุดเจ๋ง! นศ.สารพัดช่างสุรินทร์สร้าง “เครื่องถอดถุงมือแพทย์” เสริมทัพนักรบชุดขาว สู้ภัยโควิด

ข่าวทั่วไป Friday May 8, 2020 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ถือได้ว่าเป็นนักรบชุดขาวที่เป็นด่านหน้าในการรับและดูแลผู้ป่วย ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อโรคจากการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า เครื่องถอดถุงมือแพทย์ เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์หรือบรรเทาสาธารณภัยของทีมนักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่าง สุรินทร์ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ (Honor Award) ระดับชาติ จากงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ประจำปีการศึกษา 2562 ซึ่งเป็นรางวัลที่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอกหลายภาคส่วนได้เล็งเห็นศักยภาพและการันตีผลงาน และรางวัลเหรียญเงินจากการประกวด Thailand New Gen Inventors Award 2020 ระดับอาชีวศึกษา กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2563 ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มุ่งมั่นในการพัฒนายกระดับคุณภาพการเรียนการสอนตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อเตรียมกำลังคนสู่ศตวรรษ ที่ 21 โดยมุ่งเน้นให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ได้คิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ให้มีคุณภาพ ทันสมัย ได้มาตรฐาน สามารถนำไปใช้งานได้จริง ตอบโจทย์ผู้ใช้ในชุมชุน สังคม และภาคอุตสาหกรรม น้องนน หรือ นายภูธเนศ มากแสน นักศึกษาชั้นปวส.2 สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ เล่าว่า จากการศึกษางานวิจัยพบว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน มีโอกาสติดเชื้อจาก การปฏิบัติงานได้มากกว่าร้อยละ 80 โดยเกิดจากเลือดและสารคัดหลั่งซึ่งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งผู้ที่ปฏิบัติงานควรมีความรู้ และความเข้าใจถึงวิธีปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับสัมผัส สิ่งคุกคามและอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากการปฏิบัติงาน ดังนั้น การสวมถุงมือจึงเป็นสิ่งจำเป็นใน การป้องกันเชื้อโรคที่เกิดจากการสัมผัสขณะทำการรักษาผู้ป่วย แต่การถอดถุงมือที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค หลังการปฏิบัติงานเสร็จแล้วนั้นมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคจากการกระเด็นหรืออุบัติเหตุจาก การถอดถุงมือซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งการถอดถุงมืออย่างถูกวิธีสามารถป้องกันการแพร่กระจายของ เชื้อโรคได้ โดยการถอดถุงมือจะถอดข้างใดก่อนขึ้นอยู่กับความถนัด แต่การปฏิบัติที่สำคัญ คือ ขณะที่ ถอดถุงมือต้องระวังอย่าให้ด้านนอกของถุงมือสัมผัสกับผิวหนังหรือสิ่งอื่นใด และควรล้างมือหลังจาก ถอดถุงมือทุกครั้ง จากแนวทางดังกล่าว ตนและเพื่อน ๆ จึงคิดที่จะสร้างและพัฒนาเครื่องถอดถุงมือแพทย์ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีครูอักษรเพชร วิจิตรเรืองชัย ครูสาขาวิชาช่างกลโรงงาน และครูวิเชียรสวัสดิ์ แก้วมณี ครูสาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง เป็นครูที่ปรึกษา และได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลสุรินทร์ โดยเริ่มจากเลือกใช้สแตนเลสที่มีมาตรฐานและคุณภาพดี ชนิด 304 ซึ่งเป็นสแตนเลสที่ใช้ใน ด้านการแพทย์และด้านอาหารโดยเฉพาะในการสร้างเครื่องถอดถุงมือทางการแพทย์นี้ และออกแบบให้มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม มีหลักการทำงานคือ สามารถเปิด- ปิดได้อัตโนมัติ โดยเมื่อนำมือทั้งสองข้างที่สวมถุงมืออยู่สอดเข้าไปในเครื่องถอดถุงมือแพทย์ให้ตรงกับบริเวณที่มีตะขอของ ช่องทั้งมือซ้ายและมือขวา หลังจากนั้นก็ดึงมือออกจากถุงมือ ระบบจะทำการเซ็นเซอร์ปิดฝาเครื่องเพื่อให้ถุงมือตกลงสู่ภาชนะรองรับ จากนั้นแสงอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีจะทำการฆ่าเชื้อโรคถุงมือที่ใช้แล้วนี้ถือว่าเป็นขยะติดเชื้อเพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับพนักงานเก็บขยะระหว่างการจัดเก็บได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยเครื่องถอดถุงมือแพทย์ ออกแบบมาเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานและการบำรุงรักษา และช่วยลดปัจจัยเสี่ยงจากการติดเชื้อ ขณะถอดถุงมือหลังการปฏิบัติงานเสร็จ ตลอดจนลดขั้นตอนการถอดถุงมือให้เหลือแค่ 2 ขั้นตอน ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 2.8 วินาที จากเดิมที่ต้องใช้วิธีถอดถุงมือถึง 5 ขั้นตอน ทำให้ต้องใช้เวลาในการถอดถุงมือเฉลี่ยถึง 8.7 วินาที ตลอดจนยังสามารถฆ่าเชื้อโรคจากขยะติดเชื้อได้อีกด้วย ทั้งนี้ ผู้สนใจเครื่องถอดถุงมือแพทย์ สามารถติดต่อได้ที่โทร.086-247-1057 หรือที่วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ